เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แหลมฉบังป่วนสารพิษรั่ว สังเวย1ศพ ชาวบ้านหนีตายอลหม่าน

หามส่งรพ.นับสิบ-โคม่า3 อัดยับท่าเรืออุบข่าวเงียบ


ผู้ว่าประกาศเขตภัยพิบัติ NGOฮึ่มฟ้องปิดชั่วคราว
เมื่อเวลา 00.45 น.วันที่ 26 พฤศจิกายน หน่วยกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชารับแจ้งว่า ภายในท่าเรือแหลมฉบังและท่าเทียบเรือบี 3 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พนักงานท่าเรือแหลมฉบังและการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังนับ 10 รายได้รับผลกระทบจากสารเคมีรั่วไหลที่ท่าเทียบเรือ บี 3 ในท่าเรือแหลมฉบังเมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 พฤศจิกายน เนื่องจากสูดดมสารพิษที่รั่วและฟุ้งกระจายลอยไปตามลมเข้าไป จนเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและเจ็บหน้าอก
 หน่วยกู้ภัยนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 2 ราย โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 3 ราย โรงพยาบาลแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล2ราย โรงพยาบาลอ่าวอุดม 2 ราย
อพยพ200ครัวกลางดึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพนักงานที่ทำงานในท่าเทียบเรือบี 3 แล้ว ประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านแหลมฉบังเก่า หมู่ 3 ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชากว่า 200 ครอบครัวได้รับผลกระทบจากกลิ่นสารพิษที่กระจายเป็นวงกว้างในรัศมี 3 กิโลเมตรเช่นกัน โดยมีอาการคลื่นเหียนอาเจียน ทำให้หน่วยกู้ภัยฯต้องอพยพเด็กและผู้สูงอายุ รวมทั้งพระเณรในวัดแหลมฉบังเก่า ไปพักอาศัยที่บริเวณโรงเรียนเทศบาลแหลมฉบัง 2 ชั่วคราว


หามนร.-อาจารย์นับ10ส่งรพ.

ต่อมาเวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่า บริเวณท่าเรือแหลมฉบังและภายในนิคมอุตสาหกรรมยังคงมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง โดยนายศุภชัย ตันติฤทธิพร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาพฤติกรรมโรงเรียนวิศวกรรมแหลมฉบัง ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเผยว่า คิดว่าเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว จึงไม่ได้สั่งปิดโรงเรียน เด็กนักเรียนมาเรียนตามปกติกว่า 800 คน ซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นปวช.และปวส. พอเปิดเรียนได้สักพักมีกลิ่นเหม็นจากสารเคมีดังกล่าวที่มาตามลม ทำให้เด็กนักเรียนและอาจารย์บางคนเป็นลม เจ็บคอและมีผื่นขึ้นตามใบหน้า ลำตัว จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวีณ ศรีราชากว่า 10 คน และสั่งปิดเรียนทันที
ส่งแพทย์ตรวจร่างกายพบโคม่า3

ส่วนบริเวณลานวัดแหลมฉบังเก่า หมู่ 3 ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา ทีมแพทย์และพยาบาล จากโรงพยาบาลอ่าวอุดม สาธารณสุขอำเภอ กองสาธารณสุขเทศบาลตำบลแหลมฉบังเดินทางมาตรวจสุขภาพประชาชนและนักเรียนโรงเรียนบ้านแหลมฉบังเก่า ที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นของสารเคมีจากท่าเรือบี 3 ตั้งแต่กลางดึกวันที่ 26 พฤศจิกายนและยังส่งกลิ่นเหม็นอยู่ทำให้นักเรียนและชาวบ้านต้องใช้ผ้าคาดหน้ากากปิดปากปิดจมูกขณะรอรับการรักษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรอรับการตรวจจากแพทย์ มีชาวบ้านหลายคนอาการไม่สู้ดี แพทย์ต้องเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลอ่าวอุดม มีผู้ป่วยอาการโคม่า 3 รายอาทิ ด.ญ.ศิริลักษณ์ กุลบุตร อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีอาการเจ็บคอและมีผื่นขึ้นที่หน้า มีอาการอ่อนเพลีย ด.ญ.ณภัสรา นาทัน อายุ 12 ปี มีอาการตาแดง ไอ เจ็บคอและมีเลือดกำเดาไหล และน.ส.ปิยะวรรณ คำภาลา อายุ 23 ปี ชาวบ้านในชุมชนแหลมฉบังเก่าเป็นลมล้มลง เพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่าทางท่าเรือแหลมฉบังบอกว่าควบคุมสารเคมีได้แล้ว และไม่เป็นอันตราย แต่ทำไมกลิ่นเหม็นยังรุนแรง

รัฐงัวเงียลงพื้นที่ตรวจสอบ

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 เทศบาลแหลมฉบัง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เแหลมฉบังตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ในส่วนของสำนักงานฯต้องกลับไปดูรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของท่าเรือ บี 3 ว่าเป็นอย่างไร มีการปฏิบัติตามรายงานผลกระทบตามที่ส่งมาหรือไม่ หลังจากนี้จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่อีกครั้ง
จวกท่าเรือฯปิดข่าวสารพิษรั่ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านแหลมฉบังที่ได้รับผลกระทบได้รวมตัวกันออกมาต่อว่า ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ยอมชี้แจงสาเหตุสารพิษรั่วไหล โดยระหว่างที่รมช.สาธารณสุขพูดคุยกับชาวบ้านมีชาวบ้านสูงอายุชักและล้มลงต่อหน้า เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

นายประสาน เจี๊ยะหลิม ชาวบ้านแหลมฉบังกล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังปกปิดข้อมูลไม่แจ้งให้ทราบเลยว่ามีอะไรเกิดขึ้น ปล่อยให้ชาวบ้านสูดดมสารพิษจนล้มป่วยจำนวนมาก ถือว่าการท่าเรือฯไม่ดูแลรับผิดชอบ เห็นประชาชนเหมือนผักเหมือนปลาจะเป็นอะไรก็ช่าง เหตุเกิดตั้งแต่ เวลา 15.00 น.วันที่ 25 พฤศจิกายน แต่การท่าเรือฯแจ้งให้ประชาชนอพยพหรือออกนอกพื้นที่ช่วงตี 1 ของวันใหม่ เพราะคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วชาวบ้านจะไปไว้วางใจการท่าเรือฯต่อไปได้อย่างไร

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังกล่าวว่า หลังเกิดเหตุท่าเรือแหลมฉบังไม่ยอมแจ้งว่าสารเคมีที่รั่วไหลเป็นสารอะไร มีฤทธิ์อย่างไร มีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร แจ้งเพียงแต่ว่าเป็นสารฟอกขาวไม่มีอันตราย แต่ช่วงกลางดึกพนักงานท่าเรือ และการนิคมฯต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลและยังต้องอพยพพนักงานและประชาชนที่รับผลกระทบออกนอกพื้นที่เป็นการด่วน เพราะยังมีสารพิษรั่วไหลอีก ส่งกลิ่นเหม็นกระจายครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 3 กิโลเมตร

คพ.ชี้สารโซเดียมเปอร์ซัลเฟต ขณะที่นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการฉุกเฉินและฟื้นฟู ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษสามารถแก้ไขปัญหาก๊าซพิษที่รั่วไหลในท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ได้แล้วเมื่อเช้ามืดวันเดียวกันนี้ โดยการตรวจปริมาณก๊าซพิษล่าสุดพบว่ามีค่าพีพีเอ็มเท่ากับ 0 และยืนยันว่าจะไม่มีการปะทุของสารพิษขึ้นมาอีก ทั้งนี้ สารดังกล่าวคือ สารโซเดียมเปอร์ซัลเฟต เป็นสารฟอกขาวในกลุ่มกำมะถัน ลักษณะเป็นผง เป็นส่วนผสมของสารฟอกย้อมสีผม นำเข้าจากเยอรมนี เต็มตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 9 ตัน สำหรับสาเหตุการรั่วไหลเกิดจากถุงบรรจุแตกและผงตกลงบนพื้นตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเป็นไม้ และสารนี้มีคุณสมบัติคือ ถ้าออกมานอกถุงถ้าทำปฏิกิริยากับความชื้นสูงมากจะกลายเป็นกรด พอโดนไม้ที่มีความชื้นสูงจึงเกิดการลุกไหม้ ทำให้ถุงพลาสติกติดเชื้อเพลิงต่อและลุกลามไปเรื่อย การดับทำได้ยากเพราะโดนน้ำไม่ได้เพราะทำให้เกิดก๊าซมีกลิ่นเหม็นคล้ายก๊าซไข่เน่าฟุ้งกระจาย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบช่วงกลางดึกที่ต้องอพยพหนี

ห่วงผลกระทบระบบนิเวศน์

นายสุทธิเวช ต.แสงจันทร์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการกล่าวว่า ไอของสารเคมีที่ฟุ้งกระจายส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่สูดสารเคมีเข้าไป ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง ส่วนการกำจัดสารพิษนั้น ควรใช้น้ำชำระล้างเพื่อลดความเข้มข้นลง แล้วป้องกันการไหลลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติและท้องทะเล ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสิ่งมีชีวิตในทะเลได้


สธ.สรุปตาย1ป่วย46ราย

จากนั้นนายมานิตและนายเสนีย์เดินทางไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยที่รับผลกระทบจากสารเคมี พร้อมเปิดเผยว่า ได้รับรายงานข้อมูลจนถึงเวลา 16.00 น.วันเดียวกันนี้ มีผู้ได้รับสารพิษเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล 4 แห่งรวม 46 ราย รับไว้รักษาในโรงพยาบาล 20 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลอ่าวอุดม 2 ราย โรงพยาบาลพญาไท 1 ราย โรงพยาบาลแหลมฉบัง 2 ราย โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา 15 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ชื่อนางสุนีย์ ภู่เพชร อายุ 54 ปี มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยก่อนเสียชีวิตมีอาการจุกเสียดแน่นหน้าอก และหัวใจหยุดเต้นขณะรอรับการตรวจรักษาที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่วัดแหลมฉบัง โดยจะส่งศพตรวจชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป ตลอดวันนี้มีผู้ป่วยมารับการตรวจที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่วัดแหลมฉบัง 456 ราย มีอาการเล็กน้อย 70 ราย ส่งตรวจที่รพ. 25 ราย


ผู้ว่าฯประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

นายมานิตกล่าวต่อว่า สั่งการให้ทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งจุดบริการตรวจรักษาประชาชนที่วัดแหลมฉบังต่อไปจนกว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่องการซ้อมแผนอพยพ ในวันที่ 4 ธันวาคม สำหรับน้ำที่หน่วยดับเพลิงฉีดพ่นสกัดการรั่วไหลของสารเคมีได้ประสานการท่าเรือป้องกันไม่ให้ไหลลงทะเล และให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษเก็บตัวอย่างน้ำที่ขังบริเวณท่าเรือไปตรวจวิเคราะห์

ขณะที่นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีกล่าวว่าได้ประกาศให้เขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังและบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว เพื่อควบคุมและเตรียมให้การช่วยเหลือต่อไป

นายกฯสั่งสอบด่วน

เวลา 18.00 น. วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังให้การช่วยเหลืออยู่ ซึ่งล่าสุดมีรายงานเรื่องการเสียชีวิต แต่ได้สั่งให้มีการตรวจสอบแล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวกรณีสารเคมีรั่วที่แหลมฉบังโดยยื่นข้อเรียกร้องให้ผู้ที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษแก้ปัญหาโดยเร็ว เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และเมื่อสรุปสาเหตุออกมาแล้ว บริษัทหรือหน่วยงานที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ต้องเยียวยา จ่ายค่าเสียหายและต้องถูกดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา

"คมนาคม"เรียกเจ้าของสินค้าแจง

นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้มีคำสั่งคุมเข้มความปลอดภัยเขตท่าเรือแหลมฉบัง และจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะเรียกบริษัทที่ขนสินค้านี้เข้ามาชี้แจง การตรวจสอบความปลอดภัยทางน้ำ และตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำทะเล โดยให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (ขน.) ประสานความร่วมมือไปยังกรมควบคุมมลพิษในการจัดการสารอันตรายประเภทนี้ต่อไป

กรีนพีซจี้รัฐปรับปรุงกม.สารพิษ

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชนออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยนายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงมาตรการและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย และการควบคุมมลพิษ รวมถึงการออกกฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลของชุมชน โดยกำหนดให้ทุกโรงงานเปิดเผยการเคลื่อนย้ายการใช้สารเคมีอันตราย และการปล่อยมลพิษให้สาธารณะรับทราบ ซึ่งปัจจุบันชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมของไทยยังไม่ทราบถึงอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ใช้ และถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมรอบๆชุมชน


เอ็นจีโอจวกไร้สำนึกรับผิดชอบ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและมาบตาพุด สะท้อนให้เห็นถึงการขาดมาตรฐานของการบริหารจัดการของนิคมอุตสาหกรรมและบริษัทผู้รับผิดชอบ ความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากมีคนเจ็บนับสิบรายและยังมีผู้เสียชีวิต ไม่เห็นมีผู้บริหารของบริษัทที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ผู้บริหารของรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ปิดปากสนิท ไม่เห็นออกมาแสดงความเห็นหรือความรับผิดชอบ ไม่รู้หายหัวหรือหัวหดอยู่ที่ไหน ผิดกับกรณีศาลปกครองกลางสั่งระงับการดำเนินกิจกรรม 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด ที่ต่างก็ออกมาแสดงโวหารถึงความห่วงใยของกลุ่มอุตสาหกรรมตนอย่างออกหน้าออกตา

เล็งยื่นศาลสั่งปิดรง.มักง่าย

"สมาคมฯจะตรวจสอบในจ.ชลบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ศรีราชาและแหลมฉบัง มีโรงงานหรือโครงการใดบ้างที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และมีโรงงานไหนบ้างที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง หากพบว่ามี จะยื่นขออำนาจศาลสั่งให้โรงงานเหล่านี้ยุติการประกอบการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง และกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบที่ชัดเจนต่อชุมชนโดยรอบที่ต้องมารองรับความเสี่ยงที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ" นายศรีสุวรรณ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น