เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“สุทธิ” เซ็ง “มาร์ค” เปลี่ยนไป อุทธรณ์คำสั่งศาลช่วย 76 โรงงาน

โพสต์เมื่อ 1 ต.ค. 52

“สุทธิ”ถามหาสัจจะนายกฯ เคยพูดอะไรไว้ก่อนศาลระงับ 76 โครงการ วอนดู กม.ก่อนอุทธรณ์คำสั่งศาล ย้ำใบ อีไอเอ ไม่ใช่ใบอนุญาต ดังนั้นแม้จะได้ก่อน 24 ส.ค. 50 ก็ต้องทำตาม รธน.50 เล็งยื่น ป.ป.ช.
สอบ“ชาญชัย”นิยามคำว่า รุนแรง มีเอี่ยวผลประโยชน์ ขณะที่ “วีระ” โอด นายกฯ อย่าอุ้มนายทุน หากไม่ได้รับผลกระทบคงไม่มีใครประท้วง จี้ตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เดินโครงการตาม รธน. มาตรา 67


รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 30 กันยายน 2552 โดยมีนางสาวรัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจากนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และนายวีระ ชมพันธุ์ รองประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ มาร่วมพูดคุยถึงความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและท่าทีของรัฐบาล หลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับ 76 โครงการในมาบตาพุด
นายสุทธิ กล่าวว่าการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับ 76 โครงการ เพียงเพื่อต้องการบอกว่าการตั้งโครงการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะตั้งก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเสียก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อศาลมีคำสั่งระงับแล้ว แม้ตามกฎหมายจะให้ 8 ผู้ประกอบการใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 30 ก็จริง ถ้าหากผู้ประกอบการยื่นอุทธรณ์ ถือว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรมในหัวใจ เพราะพี่น้องมาบตาพุดได้ยื่นคัดค้านเรื่องนี้ต่อศาลมาแล้วถึงสองศาล ซึ่งศาลแรก(ศาลปกครองระยอง)ได้ประกาศให้มาบตาพุด เป็นเขตุควบคุมมลพิษ และยื่นต่อศาลที่สอง(ศาลปกครองกลาง) เพราะเห็นว่าจะมีการขยายโรงงานถึง 76 โครงการ โดยที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นหากปล่อยให้เพิ่มโรงงาน ก็จะเป็นการเพิ่มมลพิษเข้าไปอีก

นายสุทธิ กล่าวต่อว่าหลังจากที่ประชาชนชาวมาบตาพุด ชุมนุมในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 50 จากนั้นนายกฯ ได้ส่ง SMS มาถึงตน โดยนัดหมายให้เข้าพบที่ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 18 ก.ย.52 ครั้งนั้นมีประชาชนที่ประสบปัญหาและนักวิชาการ ประมาณ 50 คน ร่วมประชากับนายกฯ จนได้ข้อสรุป นายกฯบอกชัดเจนว่า 1.ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะหน่วยงานราชการไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย 2.ต้องดำเนินตามรธน. มาตรา 67 แต่ติดขัดที่ยังหาคำนิยามคำว่า รุนแรงไม่ได้ ดังนั้นจะต้องไปหาขอบเขตุคำว่ารุนแรง ให้ได้ก่อนที่จะประกาศออกไป 3. รูปลักษณ์ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4.ต้องเอาโครงการทั้งหมด โดยดูที่ละโครงการ ว่า มีโครงการใดบ้างรุนแรง ไม่รุนแรง 5.ให้ตั้งกรรมการสามฝ่าย มีนายก ตัวแทนชาวบ้าน และนักวิชาการ เพื่อศึกษาประเมินผลกระทบจากโครงการในมาบตาพุด อย่างไรก็ตามหลังจากที่ประชุมแล้วเสร็จ จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นเมื่อไร

“ท่าทีของนายกฯ ก่อนมีคำพิพากษาศาล ตนได้ส่ง SMS ไปที่นายกฯ ซึ่งท่านก็ตอบกลับ แล้วให้เบอร์อีเมลล์แก่ตน บอกมีปัญหาอะไรขอให้บอก พร้อมจะรับฝัง ทั้งนี้หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว ตนได้พยายามติดต่อ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ซึ่งตนไม่รู้ว่าท่านกังวลอะไร หรือถูกกดดันจากภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ ดังนั้นหากเป็นรัฐบาลแล้วไม่ดำเนินตามกรอบกฎหมาย ก็เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” นายสุทธิ กล่าว

นายสุทธิ กล่าวถึงกรณีที่นายกฯบอกว่าจะอุทธรณ์เฉพาะโครงการที่ได้อนุญาตไปแล้ว ตรงนี้นายกฯ เข้าใจผิดในหลักกฎหมาย เพราะโครงการที่ข้าราชการอนุญาตไป 76 โครงการนั้น เป็นแค่ใบ อีไอเอ เป็นเพียงหลักฐานที่จะนำไปออกใบอนุญาต จึงยังไม่ใช่ใบอนุญาต ดังนั้นแม้จะมีการอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญ 50 ใช้บังคับ ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67

นายสุทธิ กล่าวว่าวันแรกที่ตั้ง นิคมอุตสาหกรรมอีสเทอร์นซีบอร์ด รัฐบาลบอกว่าเป็นเศรษฐกิจของชาติ แต่มาช่วงหลังนี้ ตนขอถามว่า นิคมอุตสาหกรรมอีสเทอร์นซีบอร์ด เป็นเศรษฐกิจของชาติ จริงหรือไม่ ดังนั้นคำถามที่บอกกับชาวระยองว่า ถ้าไม่มีการลงทุนวันนี้ เศรษฐกิจของชาติจะเสียหาย ตรงนี้ขอถามกลับ ว่า แล้วใครเสียหาย ทั้งนี้ช่างหลังๆในมาบตาพุดมีกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนกลุ่มใหญ่ๆ เพียงสองกลุ่ม คือ ปตท. กับ เอสซีที ดังนั้นหากไม่มีการลงทุนที่มาบตาพุด แล้วรัฐบาลให้เหตุผลในเชิงหลักวิชาการได้ว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายถึงขั้นทำให้ชาติจะล่มสลาย หรือจะยากจนเหมือนเอธิโอเปียหรือไม่ ตนจะถือว่าจำเป็นต้องตั้งเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ และจะไม่คัดค้านให้ทำตามรัฐธรรมนูญเลย

นายสุทธิ กล่าวถึงการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสมัย นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรี ว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองชุด เพื่อ 1.พิจารณาโครงการรุนแรง 2.ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมาย โดยที่ผ่านมามีการประชุม ลงความเห็นชอบจากประชาชนทั้งสี่ภาคแล้ว ว่า โครงการที่จะส่งผลกระทบต่อความรุถนแรงที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 มีทั้งหมด 19 ประเภท แต่รัฐบาลก็ไม่ได้หยิบขึ้นมาบังคับใช้ ทั้งนี้หากตนเป็นนายกฯ จะนำร่างกฎหมายนี้มาเป็นนโยบายของฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้ผ่านสภาได้ง่าย อีกอย่างทาง ส.ว. เองหลายคนก็บ่นว่าเรื่องนี้เป็นร่างที่ดี ทำไมไม่มีใครยกขึ้นมาพิจารณา และหากผ่านเข้ามาเขาก็พร้อมที่จะยกมือโหวตให้

อย่างไรก็ตามต่อมา นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมโดยไม่มีอำนาจ แล้วนิยามคำว่ารุนแรง ว่าต้องอยู่ในระดับขั้นรุนแรงที่สุด โดยไปเทียบเคียงตามกฎหมายจากประเทศแคนาดาทั้งดุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ให้โครงการต่าง ๆ ในมาบตาพุดไม่อยู่ในข่ายรุนแรง ด้วยเหตุนี้ตนจะไปยื่นตรวจสอบ นายชาญชัย ต่อ ป.ป.ช. เพราะตรวจสอบได้ข้อมูลมา ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศกระทรวงดังกล่าวด้วย

“นายกฯ เคยปาถกฐา เรื่อง ไคลเมต เชนจ์ ได้พูดในที่ประชุมชัดเจน ว่า ต้องสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งให้ประชาชน เมื่อชุมชนสามารถเลี้งตัวเองได้ภายใต้เศรษฐกิจแบบชุมชน ประเทศชาติก็จะมีความมั่งคั่งและจะเดินหน้าด้วยความยั่งยืน การลงทุนขนาดเล็กและให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้ท่าที่ของนายก เปลี่ยนไป ที่บอกว่าเราจะปกป้องสภาวะอากาศของโลก แต่กลับต้องการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพื่อต้องการบอกว่าเดี๋ยวเศรษฐกิจจะเสียหาย ดังนั้นนายกฯ ต้องเป็นลูกผู้ชาย เสียชีพได้แต่อย่าเสียสัตย์ สิ่งที่เคยรับปากกับประชาชนไว้ในงานไคลเมต เชนจ์ ถ้าเป็นลูกผู้ชายจริงต้องทำให้ได้” นายสุทธิ กล่าว

นายวีระ กล่าวว่ากระบวนการนี้หากมองดูคำสั่งดีๆ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 ได้กำหนดวิธีการทำ อีไอเอ ไว้แบบหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้เพิ่มมาตรฐานเข้าไป ว่า โครงการใดหากมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมในชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงจัดให้มีกระบวนการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทังนี้เหตุที่ศาลปกครองกลาง สั่งคุ้มครอง ได้พูดไว้ชัดเจน ว่า โครงการต่างๆ แม้จะได้ยื่นไว้ก่อนวันที่ 24 ส.ค.50 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 50 จะมีผลใช้บังคับก็จริง แต่การอนุมัติโครงการทั้งหมด ได้อนุมัติหลังวันที่ 24 ส.ค.50 เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้บังคับแล้ว จะทำโครงการอะไรจึงต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 50 ก่อน

"เราไม่ได้ต่อต้านการก่อสร้างโรงงานหรือขัดขวางทางเจริญของประเทศ ที่ยื่นฟ้องเพียงเพราะต้องการให้ โครงการที่จะเกิดขึ้น เข้าศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้" นายวีระกล่าว

นายวีระ กล่าวว่าที่นายกฯ พูดว่าจะอุทธรณ์ คำสั่งศาลในโครงการที่รัฐบาลได้อนุญาตไปแล้ว โดยอ้างเพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ ตรงนี้นายกฯอาจยังไม่เข้าใจคำสั่งศาล ที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นเพราะรัฐบาลอนุญาตโดยไม่ชอบ อย่างไรก็ตามตนว่าทางที่ดี รัฐบาลน่าจะออกกฎหมายหรือออกเป็นพระราชบัญญัติอะไรก็ได้ เพื่อให้มี องค์กรอิสระ ด้านสิ่งแวดล้อมให้มันถูกต้อง เพื่อทำโครงการต่างๆให้ถูกกฎหมาย ทั้งนี้หากว่ากันด้วยเหตุผล ถ้ามีโรงงานมาจัดตั้งแล้วประชาชนได้มีงานทำ หากโครงการนั้นไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเขา จะไม่มีใครมาประท้วงเลย แต่ที่ชาวบ้านออกมาประท้วงเพราะว่าเขาทนไม่ไหว มีฝุ่นละออง อากาศเสีย

“รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 ระบุให้ต้องมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เคยมีการยกร่างมาแล้ว โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ตนคาดว่า ร่างนี้น่าจะถึงมือรัฐบาลแล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกยกขึ้นมาบังคับใช้ ทั้งนี้หากรัฐบาลใส่ใจก็สามารถนำมาบังคับใช้ได้เลย อย่างไรก็ตามถ้าคิดว่าออกเป็นกฎหมายต้องใช้เวลานาน จะออกเป็นระเบียบสำนักนายก เพื่อนำไปใช้บังคับในเบื้องต้นก่อนก็ได้ ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย” นายวีระ กล่าว

นายวีระ กล่าวถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็เพื่อให้ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แล้วรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นนักการเมืองอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ย่อมรู้ดีถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ที่จริงรัฐบาลน่าจะหาทางให้โครงการต่างๆ ดำเนินอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ตรงนี้การกระทำของรัฐบาลเป็นการคุ้มครองชาวบ้านหรือจะคุ้มครองนายทุน กันแน่

“ประชาชนที่ประสงค์จะร้องเรียนต่อสภาทนายความ ในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับในกรุงเทพฯ เรามีสำนักงานอยู่แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนในต่างจังหวัดเราก็มีประธานสภาทนายความประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเราจะลงพื้นที่ฟ้องร้องให้ฟรี” นายวีระ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น