เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประวัติองค์กรเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จังหวัดระยองได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และเกิดนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้นที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดระยอง และกำหนดให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตอุตสาหกรรม
 ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อให้เกิดการลงทุนครบวงจรในด้านปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มีท่าเทียบเรือน้ำลึกเพื่อเป็นประตูส่งออกสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งแผนพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงแผนพัฒนาฯขั้นปลายในระยะที่ 3 (พ.ศ. 2547-2561) ซึ่งการพัฒนานั้นจำเป็นที่จะต้องใช้และขยายพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันพื้นที่เดิมโดยรอบก็ยังคงมีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และการท่องเที่ยว ผลของการพัฒนาทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการขาดพื้นที่กันชนที่มีขนาดและประสิทธิภาพที่เพียงพอในการป้องกันผลกระทบระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน นำมาซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาสังคมต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และขาดการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมา เช่น ประชากรแฝง พฤติกรรมเสี่ยงทางสังคมและสุขภาพ เป็นต้น แต่ปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบมากที่สุดและมีแนวโน้มว่าจะลุกลามรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ ปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชนอันเนื่องมาจากสารพิษหลายชนิดที่ถูกปล่อยออกมาในอากาศ โดยเฉพาะการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงที่มีค่าสูงเกินค่าเกณฑ์การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมขององค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US-EPA) รวมทั้งยังมีรายงานทางวิชาการการแพทย์ที่บ่งบอกว่าจังหวัดระยองมีสถิติความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกของประชาชนสูงขึ้น รวมถึงปริมาณน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ระบายลงสู่คลองธรรม่ชาติมีปริมาณที่สูงเกินกว่าที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูและบำบัดด้วยธรรมชาติได้ และได้กลายเป็นปัญหาลุกลามไปในห่วงโซ่อาหารจากสารพิษตกค้างในสัตว์น้ำ รวมถึงบ่อน้ำตื้นและน้ำบาดาลก็มีโลหะหนักปนเปื้อนจนไม่สามารถใช้อุปโภค-บริโภคได้

จากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องของภาคประชาชนให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและการมีส่วนร่วมในการรับรู้ เริ่มจากการออกมาขับเคลื่อนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤติน้ำแล้งขึ้นและรัฐบาลได้มีนโยบายให้ผันน้ำจากทุกแหล่งน้ำในจังหวัดระยองป้อนให้กับกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้ประชาชนขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ รวมไปถึงเกษตรกรก็ไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร ผลจากการออกมาเรียกร้องทำให้เกิดการร่างกฎหมายน้ำขึ้นและมีองค์กรกำกับการใช้น้ำอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ต่อมาเครือข่ายฯก็เล็งเห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีต่อชุมชนและประชาชนนับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นทั้งปัญหาการเจ็บป่วยจากมลพิษสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปัญหาการเกิดอุบัติภัยทางเคมีอย่างต่อเนื่อง เช่น เกิดเหตุกาณ์ก๊าซรั่ว แก๊สระเบิด รวมถึงมีการปล่อยควันดำของเสียจากปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นว่าทางภาครัฐจะมีมาตรการการแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก เครือข่ายฯและชาวบ้านจึงได้ออกมาเรียกร้องกับทางรัฐบาลและได้รวมตัวกันใช้สิทธิฟ้องร้องให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมถึงพื้นที่ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา ตำบลบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552 จากนั้นก็ได้มีการออกมาคัดค้านการขยายโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มโดยใช้สิทธิในการฟ้องร้องต่อศาลให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราวด้วยการระงับการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมรวม 76 โครงการไว้ก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 67 วรรคสองอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์และต่อสู้กันในขั้นตอนของศาลจนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ 11 โครงการจากทั้งหมด 76 โครงการสามารถเดินหน้าต่อได้ส่วนอีก 65 โครงการที่เหลือให้ระงับไว้ก่อน ทางรัฐบาลก็ยังพยายามหาวิธีการช่วยเหลือเพื่อขอผ่อนผันให้อีก 42 โครงการจาก 65 โครงการที่ถูกระงับสามารถเดินหน้าต่อไปได้



ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของมาบตาพุดตามมาตรา 67 วรรคสองนั้นออกมาในรูปแบบของคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่ายอันประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคประชาชน ภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคเอกชนผู้ประกอบการ ซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาและหาข้อยุติของปัญหามาบตาพุดโดยตรงโดยการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำรายผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมไปถึงการกำหนดประเภทกิจการรุนแรงที่ต้องมีการจัดทำ EIA และ HIA และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งยังต้องกำหนดรูปแบบองค์การอิสระเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น