เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แฉเบื้องหลังกลุ่มระยองสมานฉันท์

ชาวบ้าน 5 ตำบลเมืองระยอง ในเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษ

ลงชื่อแบบสอบถามกันอย่างคึกคัก เพียง 2 วัน ได้ 5 พันชุด

วันนี้ (30 ต.ค.) กลุ่มระยองสมานฉันท์ นำโดย นายสุทธา เหมสถล นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง นายสุเมธ นาเจริญ และ นายลือเก็จ สุวรรนาวุธ รณรงค์เปิดศูนย์รวบรวมแบบสอบถามชั่วคราวที่บริเวณหน้าเทสโก้ โลตัส สาขามาบตาพุด ริมถนนสุขุมวิท อ.เมืองระยอง ใช้รถยนต์แห่ป้ายรณรงค์ ผ่าทางตัน หาทางออก เพื่ออนาคตชาวระยอง ร่วมมือร่วมใจตอบแบบสอบถาม เรียกร้องให้ชาวบ้านในพื้นที่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ คือ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ต.เนินพระ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง และ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

โดย นายสุทธา กล่าวว่า ศูนย์รวบรวมแบบสอบถาม มีคนมาบตาพุด โดยเฉพาะพนักงานโรงงาน พ่อค้าแม่ค้า ตลาดสดมาบตาพุด ห้างร้าน เริ่มมีการตื่นตัวให้ความสนใจ มาขอแบบสอบถาม พร้อมแสดงความคิดเห็นกรณี ระงับชั่วคราว 76 โครงการ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เห็นด้วยหรือไม่ วันนี้เป็นวันที่ 2 มีประชาชนกรอกแบบสอบถามแล้วประมาณ 5,000 ชุด ในวันเดียวกันนี้ได้รับแจ้งว่าพนักงานโรงงานจำนวนมาก จะเดินทางมากรอกแบบสอบถาม

เนื่องจากเป็นวันศุกร์ รุ่งขึ้นเป็นวันหยุด บางคนเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปเที่ยวงานลอยกระทง จึงต้องมากรอกแบบสอบถามก่อน เหลือเวลาอีก 2 วัน รายชื่อแบบสอบถามทั้งหมด 10,000 ชุด ได้ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งเป็นการแสดงออกของ คนมาบตาพุดและคนในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะรวบรวมแบบสอบถามไปยื่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และประธานวุฒิสภา ในวันที่ 2 พฤศจิกายน เพื่อดำเนินการต่อไป

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ความเป็นจริงคนมาบตาพุดไม่ต้องการที่จะออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นอะไร เพราะเขาอยู่ร่วมกับโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมากว่า 25 ปี เขาอยู่กันได้ เพราะหากมีปัญหามลพิษจริงคนมาบตาพุดคงอยู่กันไม่ได้ แต่สังคมภายนอกคิดว่าคนมาบตาพุดไม่เอาอุตสาหกรรมแล้ว แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ วันนี้ คนมาบตาพุดเริ่มตื่นตัวที่จะบอกกับสังคมภายนอกว่าคนมาบตาพุดต้องการโรงงานอุตสาหกรรม

มาดูความเป็นจริงกันว่า

แบบสอบถามมีอะไรแอบแฝงอยู่ เริ่มจากที่

1. แบบสอบถามเป็นช่องคำตอบให้ประชาชนเลือก ไม่ได้เป็นการให้ประชาชนเขียนคำตอบเองตามความคิดเห็นของแต่ละบุคคล เป็นการบังคับตอบ

2.รายชื่อที่ได้จากการตอบแบบสอบถาม เป็นประชากรแฝง (หมายถึงประชากรที่ย้ายมาทำงานในพื้นที่ ไม่ใช่ชาวบ้านที่เป็นคนระยองแต่ดั้งเดิม บ้างก็มาทำงานแล้วมีครอบครัวที่นี่)เกือบทั้งหมด และประชากรเหล่านั้นก็เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เหมารวมว่าคนมาบตาพุดต้องการโรงงานอุตสาหกรรม

แต่ที่อยากให้ทราบกันก็คือว่าทำไมแบบสอบถามถึงขึ้นต้นแบบนี้

แบบสอบถาม

ผ่าทางตัน หาทางออก เพื่ออนาคตของชาวระยอง

จากการที่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหว เพื่อพยายามผลักดันให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสาธารณชน และสร้างสถานการณ์ ทำให้ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมเกิดความวุ่นวายและแตกความสามัคคี โดยอาศัยเงื่อนปมทางข้อกฎหมายกดดันภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มระยองสมานฉันท์ จึงขอให้ท่านได้สละเวลาเพียงเล็กน้อย เพื่อแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและหาทางออก รวมทั้งลดผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวระยอง โดยผลักดันให้มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักวิชาการและมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของสากลโลก


กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่กล่าวอ้างถึง คือเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ทุกคนต่อสู้กันมายาวนานมาก เพื่อให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และให้รัฐเร่งแก้ปัญหามลพิษโดยมีมาตรการหรือแผนที่จะมารองรับเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เพียงแต่ต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา67ทุกประการ รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ปัญหาในทุก ๆ ด้าน

ประชาชนต่อสู้มาเพื่อให้ได้มาซึ่งการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพื่อจะให้มีการแก้ไขที่แท้จริง แต่การประกาศไม่เป็นผล อุตสาหกรรมเดิมยังไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ที่ตรวจสอบได้ที่ชัดเจน และยังไม่เห็นว่ามลพิษจะลดลง กลับมีการอนุมัติให้สร้างโรงงานเพิ่มขึ้นอีกซึ่งก็แน่นอนว่ามลพิษจะขยายจากเดิมขึ้นไปอีก สิ่งที่เครือข่ายประชาชน ต้องการคือ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา โดยไม่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ต้องการทำให้เกิดความวุ่นวายและแตกความสามัคคีของภาคประชาชนและอุตสาหกรรม

กลุ่มระยองสมานฉันท์ ตามข่าวที่อ้างถึงเป็นใคร



นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธาน                                    นายลือเก็จ สุวรรนาวุธ กรรมการ

            

นายสุเมธ นาเจริญ คณะทำงาน          นายสุทธา เหมสกล รองประธานคณะทำงานคนที่ 2

ทั้งหมดนี้มีตำแหน่งอยู่ใน

มูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด โดยได้รับได้รับแหล่งเงินทุนจากโรงงาน กลุ่มบริษัทต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้นก็มีกลุ่ม ปตท.และเครือซีเมนต์ไทยรวมอยู่ด้วยรวมถึงกลุ่มบริษัทโกล์วเป็นผู้สนับสนุนอีกทางหนึ่ง โดยใช้เม็ดเงินที่บริจาคให้นำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น เป็นการให้ผลประโยชน์กับประชาชนทางอ้อมเพื่อให้คนในชุมชนรู้สึกว่ากลุ่มโรงงานเหล่านี้ดีให้เงินสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย


               ได้รับเงินบริจาคจากผู้ว่า กนอ. 10 ล้านบาท                จาก ปตท. 10 ล้านบาท
จากกลุ่ม SCG 10 ล้านบาท                  จากบริษํท BLCP 5 แสนบาท
รวมแล้วทั้งหมดได้เงินสนับสนุนจากกลุ่มโรงงานทั้งสิ้นเป็นเงิน 37 ล้านบาท


กลุ่มระยองสมานฉันท์ มีการเปลี่ยนชื่อออกมาเคลื่อนไหวหลายครั้ง เช่น

เมื่อปี 50 กลุ่มนี้ออกมาคัดค้านการที่กลุ่มประชาชนรวมตัวกันต่อต้านโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายพลวัตร ชยานุวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองในสมัยนั้น ดำเนินคดีกับแกนนำเครือข่ายประชาชน

ต่อมาเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งประกาศให้มาบตาพุดและใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ กลุ่มระยองสมานฉันท์ก็ออกมาเคลื่อนไหวโดยการไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีให้ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

โดยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่าทำไมรายชื่อชาวมาบตาพุดที่กล่าวอ้างถึงและได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันคือต้องการโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนกับโรงงานอยู่ร่วมกันได้

กลุ่มระยองสมานฉันท์ยังได้สร้างภาพนำเอาสัตว์ทะเลเช่นกุ้ง (ตามข่าว) ไปให้นายกรัฐมนตรีทานว่ากุ้งที่ทานนั้นไม่มีสารพิษเจือปนเกินค่ามาตรฐานสามารถรับประทานได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ทานไป 1 ตัว

ความเห็น การทานกุ้งแค่ 1 ตัวไม่ได้หมายความว่าจะมีสารพิษทำให้เจ็บป่วยในทันที ต้องทานมาตลอด 20-30 ปีอย่างคนพื้นที่จึงจะรู้ว่ามีผลกระทบอะไรกับร่างกายบ้าง

ทำไมกลุ่มระยองสมานฉันท์จึงสามารถหาบกุ้งไปพบนายกได้อย่างง่ายดาย เหมือนมีการเตรียมการต้อนรับไว้อยู่แล้ว ในขณะที่ประชาชนเดินเท้าเปล่าเข้าไปหานายกถึง 5 วันเต็ม ยังไม่ได้พบนายกรัฐมนตรีเลย,,,?

ชาวระยองเดินเท้าเข้ากรุงเทพ ฯ 5 วัน เต็ม ยังไม่ได้พบนายก

ในขณะที่กลุ่มระยองสมานฉันท์ หาบกุ้ง จากหน้าทำเนียบ เข้าพบนายกได้ในทันที

เครือข่ายประชาชนฯ ชาวระยองรอยื่นหนังสือให้นายกหน้ารัฐสภา แต่นายกส่งตัวแทนออกมารับเรื่อง

แต่ในขณะที่นายกออกมา ทานกุ้ง จากกลุ่มระยองสมานฉันท์ ด้วยตนเองในทันที

ท่านคิดว่า..? อะไรคือความแตกต่าง





















กลุ่มที่มีเบื้องหลังแบบนี้ มีน้ำหนักในการนำเสนอข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น