เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ล่ารายชื่อฟ้องโครงการรุนแรงเพิ่ม

ล่ารายชื่อฟ้องโครงการรุนแรงเพิ่ม จี้ตรวจสอบโรงงานไม่ตอกเสาเข็มหวั่นฐานทรุดเกรงก๊าซรั่ว


นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เผยว่ากรณีมติคณะรัฐมนตรี ให้อัยการสูงสุดยื่นศาลปกครองสูงสุดขอผ่อนผันโรงงานรวม 12 โครงการสามารถก่อสร้างไปก่อน เรื่องนี้เครือข่ายประชาชนกับนักกฏหมายมีการหารือกันแล้วสรุปว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ และอัยการนั้นมีหน้าที่อะไร ที่จะไปยื่นศาลปกครองสูงสุด


ซึ่งในระหว่างนี้โรงงานต่างๆอยู่ระหว่างดำเนินการทำเอชไอเอและรับฟังความคิดเห็น แต่กลับขอให้มีการก่อสร้างไปก่อน ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทางเครือข่ายฯเตรียมเข้าแจ้งความดำเนินคดีอัยการที่ไปยื่นและอาจจะนำมติครม.ที่รัฐบาลมอบให้อัยการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเป็นเหตุให้อัยการไปยื่นศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราจะไปยื่นปปช.ให้ตรวจสอบครม.ว่ามิชอบและเป็นเจตนาบ่งชี้ให้เห็นการตีความตามรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด

นายสุทธิ กล่าวว่าขบวนการเหล่านี้ถือเป็นขบวนการที่ต้องการดึงรัฐธรรมนูญให้ออกนอกกรอบเจตนารมณ์ ทุกอย่างต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการก่อสร้าง มีตัวอย่างให้เห็นว่าที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมเอเชียเคยอนุญาตให้โรงงานอินโดราม่า ก่อสร้างไปก่อนพร้อมอนุญาตอีไอเอไปพร้อมกัน อีไอเอยังไม่ผ่านก็ก่อสร้างไปเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อสร้างสร็จ อินโดราม่าก็ได้ใบประกอบกิจการระหว่างอีไอเอยังไม่เสร็จ อินโดราม่าก็สามารถทดลองเดินเครื่อง เป็นเวลากว่า 2 ปีอินโดราม่าทดลองเดินเครื่องจักร มีการผลิตผลิตภัณฑ์นำมาจำหน่าย แต่ยังไม่ได้ใบอนุญาตอีไอเอ

ปัจจุบันอินโดราม่าในนิคมเอเชียได้สร้างปัญหามากมายให้กับชุมชนรอบโรงงาน ปัจจุบันการนิคมอุตสาหกรรมกำลังสอบอินโดราม่ากรณี เรี่องกลิ่นเหม็นรบกวน ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมยื่นโนติ๊สโรงงานอินโดราม่า ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หากอินโดราม่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นได้ จะดำเนินการสั่งปิดโรงงาน นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าปล่อยให้มีการก่อสร้าง ดำเนินการโดยไม่ทำตามขั้นตอน สุดท้ายชุมชนรอบโรงงานก็จะได้รับผลกระทบจากโรงงาน

ทางเครือข่ายฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตร 67 วรรคสอง โครงการที่รุนแรงทั้งหมด ต้องดำเนินการจัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมถึงให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ เราจะรวบรวมสรุปข้อมูลส่งศาล เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามจะเล่นเกม โดยดึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไปเป็นอย่างอื่น

นายสุทธิ กล่าวว่าเราได้บอกรัฐบาลว่า ถ้าจะเล่นนอกเกม คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้กำหนดกรอบมาตรการตามรับธรรมนูญไว้แล้วไม่ว่าการทำการประเมินผลกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระและกำหนดประเภทโครงการรุนแรง เราคิดว่าในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังมีโครงการที่เข้าข่ายประเภทรุนแรงและยังไม่มีการชะลอเหมือน 64 โครงการที่ปิดล็อคอยู่ในชั้นศาล

เร็วๆนี้จะล่ารายชื่อทำหนังสือมอบอำนาจฟ้องเพิ่มโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนอกนิคมฯที่เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง มีจำนวนอีกกว่า 10 โรง โครงการประเภทรุนแรง อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เจ๊กโก้วัน ได้รับใบอนุญาตหลังรัฐธรรมนูญผ่าน เรื่องนี้ต้องฟ้องโรงไฟฟ้าเจ๊กโก้วันแน่ และอีกหลายโรงงานราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อและมอบอำนาจให้ฟ้องกว่า 100 คนแล้ว เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเอง ที่มอบให้อัยการไปยื่นต่อศาล จนกลายเป็นชนวนฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

นายสุทธิ กล่าวต่อว่า เราพบว่ามีการตรวจพบการก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่ตรงตามแบบแปลน เนื่องจากไม่มีการตอกเสาเข็ม ไม่มีระบบยึดโยงโครงสร้างที่แข็งแรงพอ ทุกวันนี้ยังมีการก่อสร้างอยู่ เมื่อก่อสร้างเสร็จมีการทดลองเดินเครื่องพื้นฐานเกิดการยุบตัว อาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติภัยที่ร้ายแรงเกิดก๊าซรั่ว และอาจรุนแรงถึงระเบิดได้ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การก่อสร้างโรงงานไม่ผ่านระบบที่ถูกต้องมีจำนวนหลายโรงงาน เรื่องนี้จะส่งเรื่องให้สภาวิศวกรรมเข้าตรวจสอบอย่างจริงจังว่าโครงสร้างโรงงานมีความปลอดภัยหรือไม่

ที่ผ่านมาเคยยื่นหนังสือให้ดีเอสไอสมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่องเป็นอธิบดี ดีเอสไอ การละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน คดีนี้น่าจะบรรจุเป็นคดีพิเศษตั้งแต่เดือนมกราคมตามคำยืนยันของอธิบดี ดีเอสไอ คนใหม่ แต่ทุกวันนี้คดีถูกดึง ยังไม่สามารถบรรจุเป็นคดีพิเศษได้ เราตั้งข้อสังเกตนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีส่วนรู้เห็นในการดึงคดีหรือไม่

ซึ่งเราจะต้องไปติดตามความคืบหน้า ต้นเดือนมีนาคมจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งใหญ่ “คนพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญมาตลอด แต่เราเห็นความพยายามทั้งรัฐบาลและกลุ่มโรงงานบริษัทเอกชนหลายบริษัทรวมทั้งการกดดันจากแหล่งทุนนอกประเทศเช่นญี่ปุ่น แต่พวกเราจะแสดงพลังให่เห็นว่า ต้องการให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ด้านนางอารมณ์ สดมณี(นุ้ย) อายุ 45 ปีเลขที่26 / 4 ซอยทุ่งสำนักมาบใน ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา ผู้ร่วมฟ้องคดีมาบตาพุด กล่าวว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้ชายจำนวน 3 คนใช้รถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าสีขาว ทะเบียนรถกรุงเทพฯ จำหมายเลขไม่ได้ มาถามร้านค้าใกล้บ้านถามหาคนชื่อนุ้ยที่ชอบต่อต้านโรงงาน รวมทั้งนายน้อย ใจตั้ง อายุ 70 ปี ผู้ร่วมฟ้อง ถูกผู้ชายขับขี่รถจักรยานยนต์มาวนเวียนรอบบ้านหลายครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น