เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มาบตาพุดป่วนก๊าซพิษรั่วอีกแล้ว

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" ตกเป็นข่าวฉาวระลอก 2 อีกแล้ว คราวนี้เกิดก๊าซลึกลับกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายแอมโมเนีย หรือคลอรีนกระจายฟุ้งไปทั่ว คนงานเผลอสูดดมเข้าไปถึงกับหน้ามืดหมดสติ มีอาการแสบคอแสบจมูก แน่นหน้าอก ต้องหามส่ง รพ.โกลาหล แพทย์รับตัวไว้ดูอาการ 6 ราย และต้องอพยพคนงานนับพันไปอยู่ในที่ปลอดภัย ชั่วคราว เบื้องต้นยังไม่ทราบชนิดของก๊าซพิษและจุดเกิดเหตุ มีเพียงเบาะแสจากสถานีตรวจอากาศเมืองใหม่มาบตาพุด พบปริมาณก๊าซไฮโดรคาร์บอนสูงกว่าปกติ 2-3 เท่า สั่งระดมพิสูจน์ทราบในรัศมี 3 ตร.กม.

ฉาวซ้ำระลอกสอง "นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" เกิดเหตุก๊าซลึกลับรั่วไหล ทำให้คนงานเกิดอาการป่วยจนต้องหามส่ง รพ. พร้อมสั่งอพยพคนงานนับพันหนีตายจ้าละหวั่น เกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 ธ.ค. นายวีระพงษ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง รับแจ้งมีเหตุก๊าซพิษรั่วไหลบริเวณไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าโกลด์ โรงงานสยามแผ่นเหล็กวิลาศ และโรงงานปิโตรเคมีในเครือ ปตท. ตั้งอยู่บริเวณถนนไอ 5 และไอ 6 ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงประสาน จนท.กรมควบคุมมลพิษรุดไปตรวจสอบ พร้อมสั่งอพยพคนงานในบริเวณดังกล่าวประมาณ 1,000 คน ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยองเป็นการชั่วคราว
เบื้องต้นพบว่ามีคนงานซึ่งสูดดมสารพิษเข้าไปเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก แสบคอแสบจมูก และคลื่นไส้อาเจียน ถูกส่งไปรักษาตัวที่ รพ.มาบตาพุดนับสิบราย โดยแพทย์รับตัวไว้ดูอาการจำนวน 6 ราย ที่เหลืออาการไม่หนักหนาจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
ขณะเดียวกัน จากการสอบถามคนงานในจุดเกิดเหตุ ระบุว่าได้กลิ่นเหม็นของสารเคมีลอยมาจากโรงงานปุ๋ยธรรมชาติซึ่งตั้งอยู่ข้างสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าโกลด์แต่ปิดโรงงานไปนานกว่า 3 ปีแล้ว เมื่อนำเครื่องตรวจสารพิษในอากาศไปตรวจเช็กกลับไม่พบสิ่งผิดปกติ ส่วนอีกจุดคือบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) แต่ทางเจ้าหน้าที่ของโรงงานไม่อนุญาตให้เข้าไป
ด้านนายธำนุรักษ์ เวียนขุนทด อายุ 35 ปี และ น.ส.สุมาวดี ฉลาดไธสง เจ้าหน้าที่ห้องแล็บบริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาศ ระบุว่าช่วงเกิดเหตุทุกคนได้กลิ่นฉุนรุนแรงคล้ายแอมโมเนีย หรือคลอรีน ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ บางคนที่สูดดมเข้าไปมากถึงกับหน้ามืดจะเป็นลม ต้องพาส่ง รพ. และอพยพไปอยู่ที่ศูนย์ราชการระยองชั่วคราว อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นไปได้ 2 ชม. ก็มีคำสั่งยกเลิกอพยพคนงาน และให้กลับเข้าทำงานตามปกติ
ต่อมาเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน ที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่าจากการตรวจสอบของสถานีตรวจอากาศทั้ง 3 จุด คือสถานีตรวจอากาศบ้านตากวน สถานีตรวจอากาศบ้านหนองแฟบ และสถานีตรวจอากาศเมืองใหม่มาบตาพุด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พบว่าบริเวณสถานีอากาศเมืองใหม่มาบตาพุด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถนนไอ 5 และไอ 6 ตรวจพบปริมาณก๊าซไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของก๊าซที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์สูงกว่าระดับมาตรฐานถึง 3 เท่า แต่เมื่อนำอุปกรณ์เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ต้องสงสัยกลับไม่พบก๊าซพิษ เบื้องต้นจึงมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบหาต้นตอที่เกิดขึ้นในรัศมี 3 ตร.กม. โดยรอบของสถานีตรวจอากาศเมืองใหม่มาบตาพุด คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสาธารณสุขจังหวัดระยองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงมาก มีคนงานบริษัทโกลด์ ได้กลิ่นก๊าซจึงส่งสัญญาณว่าอาจจะมีก๊าซรั่ว เมื่อมีการส่งสัญญาณลักษณะนี้ออกไป ตามแผนป้องกันก็ต้องอพยพคนงานออกจากพื้นที่ทันที สำหรับผู้ป่วยที่เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะจากการสูดกลิ่นก๊าซเข้าไป ถูกนำส่งโรงพยาบาลมาบตาพุด 6 คน ขณะนี้กลับบ้านหมดแล้ว และในส่วนของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเองได้เข้าไปจัดการจนกระทั่งไม่มีกลิ่นก๊าซแล้ว

สำหรับปัญหาด้านมลพิษทางอากาศในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเกิดขึ้นถี่ยิบในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. เกิดเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารฟอกขาว ภายในท่าเรือบี 3 การท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทำให้ชาวบ้านล้มป่วยเกือบร้อยรายและยังมีผู้ที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากสารพิษดังกล่าวจนเสียชีวิตถึง 2 ราย ถัดมาวันที่ 5 ธ.ค. เกิดเหตุการณ์ สาร "บิวเทน-วัน" รั่วไหลระหว่างการขนถ่ายจากเรือบรรทุกสินค้าเข้าสู่คลังเก็บของบริษัทมาบตาพุดแทงก์ เทอร์มินอล จำกัด ภายในท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ส่งผลให้มีชาวบ้านในชุมชนบ้านตากวน-อ่าวประดู่ อ.เมืองระยอง ล้มป่วยจนต้องเข้ารักษาที่ รพ.ถึง 62 ราย และมาเกิดเหตุการณ์ระลอกที่ 3 อีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค. โดยที่ยังหาต้นตอไม่ได้

ขอบคุณ ไทยรัฐ : http://www.thairath.co.th/content/page1/52632

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น