เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ฟ้องเพิกถอน EIA 76 โรงงานในมาบตาพุต-บ้านฉาง

โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 52

ตัวแทนชาวบ้านมาบตาพุด พร้อมทีมทนายความนำคำร้องพร้อมเอกสาร ยื่นต่อศาลปกครองกลาง ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ,สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กระทรวงพลังงาน ,กระทรวงคมนาคม ,กระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ในความผิดฐานเป็นหน่วยงานทางปกครอง และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฏหมายกำหนด จากการร่วมกันเห็นชอบหรืออนุญาติให้เจ้าของโครงการ ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงสามารถดำเนินการก่อสร้าง ทั้งที่กฏหมายกำหนดให้ต้องประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และ ให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบ


นายศรีสุวรรณ จรรยา ทีมทนายความ คาดว่าสัปดาห์หน้า ศาลจะเรียกมาไต่สวนมูลฟ้อง พร้อมกับพิจารณาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง 76 โครงการ ที่ผ่านการพิจารณาอีไอเอ หลังวันที่ 24 ส.ค.2550 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ต้องหยุดการดำเนินงานในช่วงการพิจารณาคดี

"นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550ประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2550 และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม 2550 เป็นต้นมา หน่วยงานทางปกครองของรัฐทั้ง 8 หน่วยงาน ข้างต้นกลับเพิกเฉยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการหรือสั่งการใด ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ปล่อยให้เอกชนสามารถยื่นเรื่องขออนุญาติก่อสร้างและขยายกิจการโรงงานหรือโครงการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียงได้โดยง่าย ทั้ง ๆ ที่ปัญหามลพิษในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณ มากเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่ จะรองรับไดเอีกแล้ว (Over Carrying Capacity) อีกทั้งไม่เคยคำนึงเลยว่าศาลปกครองระยองได้สั่งให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา แต่โครงการต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าก่อสร้าง ขยายกิจการ เพิ่มปริมาณการผลิต จนก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายเพิ่มพูนมากขึ้นไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง เสียงดัง น้ำเน่าเสีย ขยะพิษ ขยะชุมชนทิ้งกันเกลื่อนกลาด ในพื่นที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง รวมทั้งเกิดการทะเลาะเบาะแว้งของคนงานต่างถิ่นและต่างด้าว เกิดอาชญากรรมต่าง ๆมามากมาย ไร้การควบคุมดูแล เป็นต้น ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงจึงไม่อาจนิ่งทนต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเคยร้องขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ยุติการอนุญาติหรือขยายโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่แล้ว แต่กลับเพิกเฉย ชาวบ้านจึงต้องมาขอพึ่งอำนาจศาลในการยุติปัญหาดังกล่าว"

ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้เป็นต้นมาถึงปัจจุบันเพียง 1 ปี 9 เดือน เศษ แต่ สผ. โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้เห็นชอบรายงาน EIA ที่เป็นโครงการประเภทรุนแรงในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียงปแล้วกว่า 76 โรงงานเฉลี่ยเห็นชอบอาทิตย์ละ 1 โครงการ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผู้ชำนาญการที่ทำหน้าที่พิจารณา จะมีเวลาอ่านและทำความเข้าใจเอกสารโครงการละกว่า 1,000 หน้ากระดาษได้โดยสะดวกไม่ติดขัดปัญหาอะไร ทั้งนี้ไม่ร่วมรายงาน EIA ประเภทอื่นอีกกว่า 500 โครงการทั่วประเทศที่เห็นชอบไปแล้วอีกเช่นกันในช่วงเวลาดังกล่าว

การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามามีส่วนร่วมและให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพิจารณาช่วยให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินการ น่าที่จะช่วยให้ สผ. , คชก. ได้พิจารณา EIA ต่าง ๆ ได้ง่ายและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ภาครัฐจึงหวงอำนาจ ไม่พยายามที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทั้งปวง หรือมีอะไรที่ซ่อนเร้น บิดบัง อำพราง หรือมีผลประโยชน์ได้เสียอะไรแฝงอยู่ จึงเพิกเฉยหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนชาวบ้านต้องออกมาฟ้องร้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น