เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประกาศผลรางวัล...คนค้นคน อวอร์ด ครั้งที่ 1...สุทธิ อัชฌาศัย รางวัลนักสู้ผู้ไม่แพ้

สุทธิ อัชฌาศัย

>>> รางวัล นักสู้ผู้ไม่แพ้<<<


"นักต่อสู้ผู้ไม่แพ้ หมายถึง คนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ และความถูกต้องนั้นจะไม่ใช่เพื่อตัวเขาคนเดียว แต่จะมีประโยชน์มหาศาลกับทุกชีวิต
มีสุภาษิตบู๊ลิ้มกล่าวไว้ว่า ถ้ารักษาขุนเขาไว้ได้ ไม่ต้องกลัวไร้ฟืนเผา

นักสู้ผู้ไม่แพ้ ก็คือคนที่พยายามต่อสู้เพื่อรักษาขุนเขาหรือส่วนรวมเอาไว้ให้ได้ และมนุษย์คนอื่นก็จะได้รับอานิสงส์จากการต่อสู้นั้นด้วย"

รสนา โตสิตระกูล
สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และนักต่อสู้ภาคประชาชน

เชิดชูจิตวิญญาณแห่งคน
การประกาศผลรางวัล "คนค้นคน อวอร์ด" ครั้งที่ 1

สิ้นเสียงประกาศให้เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ


สุทธิ อัชฌาศัย รู้สึกเหมือนยกภูเขาครึ่งหนึ่งออกไปจากอก

ภาระการต่อสู้ที่ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกอย่างเขา ผนึกกำลังกับคนร่วมบ้านเพื่อต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์มากว่า 4 ปี บัดนี้ได้รับการชูมือว่าไม่ได้ไร้ค่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ หมายถึง การขีดวงว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อันตราย ต้องหามาตรการป้องกันและแก้ไขมลภาวะ เพื่อไม่ให้คนระยองกว่าครึ่งจังหวัดต้องถูกคุกคามด้านอากาศหายใจและน้ำกินน้ำใช้ไปมากกว่านี้

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กำเนิดขึ้นในอำเภอบ้านเกิดของสุทธิตั้งแต่ปี 2522-2523 เขาจำได้ว่า ห้วงนั้นแผ่นดินที่นี่อุดมสมบูรณ์ อากาศดี ฝนที่โปรยจากฟ้าทำให้ต้นไม้ในสวนเติบโต และชาวบ้านมีน้ำไว้กินไว้ใช้

ทว่าหลังจากที่เมืองอุตสาหกรรมดำเนินต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี ทุกสิ่งก็กลับกลาย.....

เค้าลางของความไม่ชอบมาพากลปรากฎขึ้นราวปี 2548 ขณะที่สุทธิทำโครงการ "เมืองน่าอยู่" ใน อ.เมือง เขาพบว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำดอกกรายกับหนองปลาไหลเหือดแห้งถึงขั้นวิกฤติ ชาวบ้านไม่มีน้ำทำการเกษตร ทว่ารัฐบาลกลับแก้ปัญหาโดยไปผันน้ำจากที่อื่นมาให้โรงงานอุตสาหกรรม และห้ามชาวบ้านนำน้ำไปใช้ทั้งที่รวมแล้วชาวบ้านใช้น้ำแค่ 20,000 คิวต่อวัน ในขณะที่ทั้งนิคมฯใช้น้ำถึง 800,000 คิวต่อวัน

ชายหนุ่มจึงชุมนุมกับผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เหตุการณ์ครั้งนั้นจุดชนวนให้เขาสงสัยว่าอาจมีอย่างอื่นที่อุตสาหกรรมเอาเปรียบชาวบ้านมากกว่าการแย่งน้ำ

สุทธิ เดินหน้าค้นคว้าหางานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และพบว่ามีงานวิจัยถึงกว่า 400 หัวข้อที่ระบุว่า การพัฒนานิคมฯสร้างปัญหามลพิษ ทำให้คนที่นี่ต้องเสี่ยงกับโรคมะเร็งมากกว่าที่อื่น ดังที่มีสถิติผู้ป่วยมะเร็งที่สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

นอกจากนี้การกินการอยู่ยังต้องลำบากลำบน ทั้งมีกลิ่นเหม็นโชยมาจากโรงงานจนแทบอยู่ไม่ได้นอนไม่หลับ แม้กระทั่งน้ำกินน้ำใช้ก็ต้องไปซื้อหาเอามา เพราะน้ำฝนชะล้างควันพิษจากฟ้ามาเป็นกรด ต้นไม้ก็ล้มตาย

ใครบางคนบอกว่า หยาดฝน คือ หยาดน้ำตาของคนมาบตาพุด

การหยุดนิ่งอยู่เฉยก็คล้ายกับรอวันตายเท่านั้น สุทธิ จึงปลุกเร้าให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ หาหลักฐานจนไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาล และฟ้องศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ที่นี่เป็นเขตควบคุมมลพิษโดยไม่ลดละ แม้ว่าตลอดระยะทางของการต่อสู้ เขาจะถูกข่มขู่เอาชีวิตไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งก็ตาม

อย่างไรก็ดี เขามองว่าคำพิพากษาของศาลปกครองกลางจังหวัดระยอง ในวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ยังไม่ใช่ชัยชนะอันแท้จริง เพราะอีกครึ่งหนึ่งของภูเขาในใจที่เขาตั้งใจจะเอาออก นั่นคือการหยุดการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมให้ได้

"นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น การต่อสู้ยังเหลืออีกยาวไกล ชัยชนะที่แท้จริงของเราคือไม่ให้มันขยายอีก ให้หยุดแค่ 3,000 ไร่เท่านี้"

ดูเหมือนว่า สุทธิ อัชฌาศัย จะไม่มีวันยอมแพ้ ตราบใดที่อุตสาหกรรมยังเป็นปัญหาของคนที่นี่ และตราบใดที่ฟ้าเมืองมาบตาพุด..........
ยังไม่หยุดร้องไห้ เพราะเป็นพิษ

น้ำฟ้าไม่ได้กิน
น้ำดินไม่ได้ใช้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น