เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

(คปอ.)

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ สุทธิ อัชฌาศัย “มาบตาพุดจะต้องไม่ขยายอีกต่อไป”

ประวัติวัยเด็ก


ผมเป็นคนอำเภอเมืองระยอง เป็นลูกชาวสวน เรียนที่โรงเรียนระยองวิทยาคมจนถึงชั้นม. ๓ ก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดราชบพิตร กรุงเทพมหานคร แล้วก็เข้าเรียนรัฐศาสตร์ต่อที่รามคำแหง
 ชีวิตส่วนใหญ่ก็จะชอบทำกิจกรรม เคยไปช่วยคนในสลัม คือมีเพื่อนที่พ่อเขาเป็นกระเป๋ารถเมล์แล้วอยู่ในสลัมก็คิดที่จะช่วยเขา จากนั้นก็มาทำงานที่สมาคมร่วมกันสร้าง ตอนนั้นอาจารย์จำเนียร วรชัยชาญ เป็นเลขาธิการสมาคม ก่อนหน้านั้นตอนเรียนรามคำแหงก็ได้ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทตลอด ได้รู้จักกับพี่พิภพ ธงไชย, พี่สุวิทย์ วัดหนู เป็นวิทยากรมาให้ความรู้ เลยได้แนวคิดเหล่านี้มา แล้วก็กลับมาทำงานที่สมาคมร่วมกันสร้าง ทำงานสลัม ตอนหลังก็ทำงานกับพี่สุวิทย์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย แล้วก็มาร่วมงานกับสมัชชาคนจนที่ปากมูลพักหนึ่งกับพี่มด วนิดา (ตันติวิทยาพิทักษ์)

แล้วเหตุใดจึงกลับมาทำงานที่บ้านจังหวัดระยอง

ตอนนั้นคุณแม่ป่วยก็เลยกลับมาอยู่บ้านตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ไปสมัครงานข้าราชการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมของ อบต.บ้านแลง แล้วก็สอบติด พอทำงานได้หกเดือนก็รู้สึกอึดอัดกับระบบราชการ เลยลาออกมาทำสวนที่บ้านทั้งสวนยางพาราและสวนผลไม้ ต่อมาก็ไปทำงานด้านการฟื้นฟูเมืองเก่าระยองซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ของระยอง มีบ้านเรือนไม้เก่าแก่อายุร่วมร้อยกว่าปีให้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมอีกจุดหนึ่งและที่ทำควบคู่กันไปก็คือช่วยทำโครงการบ้านมั่นคง เนื่องจากระยองมีสลัมเต็มไปหมด เราก็เลยไปช่วยงานชุมชนแออัดในบ้านเราเอง ให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยกับโครงการบ้านมั่นคงร่วมร้อยกว่าหลังคาเรือน ทำประมาณปีหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์วิกฤตภัยแล้งของระยอง ในช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ รัฐบาลทักษิณก็ประกาศนโยบายให้เอาน้ำทุกแหล่งน้ำที่มีอยู่ในจังหวัดระยองไปให้โรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดใช้ก่อน อ้างว่ามันจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจถ้าไม่มีน้ำใช้ เราก็เห็นว่าชาวบ้านเขาก็มีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค พี่น้องเกษตรกรก็รอน้ำจากอ่างเก็บน้ำ น้ำก็ไม่มี รวมถึงพวกชาวประมงที่ต้องใช้อนุบาลสัตว์น้ำ เรามองเห็นความไม่เป็นธรรม ก็เลยชวนชาวบ้านพวกที่ทำงานอยู่ ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องการจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วม และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพราะมันไม่เป็นธรรมที่จะให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวโดยที่เกษตรกรรมหรือประปาไม่ได้รับ ก็เลยเรียกร้องกับรัฐบาล จนได้ข้อสรุปว่าต้องมีการจัดสรรน้ำให้เป็นธรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน และเป็นเหตุให้เกิดการร่างกฎหมายน้ำขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๐ และมีองค์กรกำกับการใช้น้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ตอนนั้นปัญหามลภาวะในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกิดขึ้นมานานก่อนหน้านั้นแล้ว

มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ผมก็ติดตามข่าวแต่ก็ไม่ได้มีโอกาสไปช่วย แล้วตอนนั้นการต่อสู้ของชาวบ้านมาบตาพุดหรือระยองมักจะถูกมองว่าเคลื่อนไหวเพื่อรับเงินจากโรงงาน แล้วในอดีตหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มีการรับเงินจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตครู อดีต ส.ส. นักการเมือง หรือผู้นำภาคประชาชนบางคน ก็เลยทำให้ภาพของนักเคลื่อนไหวในจังหวัดระยองเป็นภาพที่ทำให้ถูกยี้มาก เราก็ได้แต่สดับรับฟังไม่มีโอกาสลงไปทำงาน เพราะรู้ว่าถ้าทำแล้วจะต้องเจอเรื่องอะไรบ้าง

ตอนที่เรียกร้องเรื่องการจัดสรรน้ำ ทำไมจึงถูกผลักดันขึ้นมาเป็นผู้นำภาคประชาชนโดยปริยาย

ผมไม่ต้องการเป็นผู้นำเลยแม้แต่อย่างใด เพราะเรารู้ว่าคนที่ขึ้นเป็นผู้นำมันโดนอะไรแบบไหนยังไงบ้าง เราเห็นมาโดยตลอดไม่ได้อยากเป็น แต่ชาวบ้านเขาอยากจะผลักดันแล้วเราก็เชื่อมั่นว่าตัวเองจริงใจ เราบริสุทธิ์ ไม่รับเงินใคร ก็เลยต้องโดดเข้ามาเป็นคนนำตั้งแต่วันนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่อยู่รอบข้างด้วย แล้วตระกูลผมก็ไม่ได้มีภาพลบในจังหวัดระยอง พ่อแม่ก็ทำสวนในระยองมาตลอดชีวิต

หลังจากที่เคลื่อนไหวเรื่องน้ำแล้ว ทำไมมาจับประเด็นเรื่องมาบตาพุด

พอเคลื่อนไหวเรื่องน้ำเสร็จ ช่วงนั้นปี ๒๕๔๘ มีเรื่องทักษิณโดนกลุ่มพันธมิตรเดินขบวนขับไล่ ก็ไปร่วมชุมนุมด้วย เพราะทักษิณเป็นคนกำหนดนโยบายผันน้ำที่ไม่เป็นธรรม ก็เลยดึงขบวนชาวบ้านไปเรียนรู้ พอมีการยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาแทน ปรากฎว่าท่านโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ประกาศนโยบายขยายโรงงานในมาบตาพุดอีก พอได้ข่าวเราก็รวบรวมข้อมูล แล้วก็มาบอกว่ามันไม่เป็นธรรม เพราะน่าจะมีการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษมากกว่าที่จะขยายโรงงานอีก ก็เลยเรียกร้องต่อตั้งแต่ตอนนั้นประมาณปลายปี ๔๙ และอีกประเด็นคือผมมาเจอ ลุงน้อย ใจตั้ง พอไปเจอลุงน้อย แล้วมันเป็นแรงดลบันดาลใจให้ผม ลุงน้อยเล่าให้ฟังว่าแกเสียที่ดินอย่างไร เมื่อก่อนแกถูกเวนคืนที่ดินไร่ละแปดพันบาทเอง แล้วพอโดนเวนคืน แกก็ได้มาสร้างบ้านอีกที่หนึ่ง ที่สร้างใหม่ของแกก็โดนเวนคืนเป็นถนนเข้านิคมอุตสาหกรรมอีก ก็ได้เงินมาไร่ละแปดพันแค่นั้นเอง ซึ่งแกเคยมีที่ ๒๐ กว่าไร่ ทุกวันนี้เหลือแค่กระต๊อบหลังเดียวในเนื้อที่หนึ่งไร่ มันทำให้เราเห็นว่า เอ๊ะ ทำไมคนมันไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วลูกแกเองก็เสียชีวิต แม่ก็เสียชีวิตด้วยมะเร็ง แม่ยายก็เสียชีวิตด้วยมะเร็ง ลูกเขยก็เสียชีวิตด้วยมะเร็ง ๖ คนน่ะ เราก็เลยเห็นว่ามันไม่เป็นธรรมแล้ว เราก็ต้องหาทางคิดที่จะไปช่วย เราคิดว่ามันน่าจะทำอะไรได้มากกว่าที่อยู่เฉยๆ ในบ้านก็เลยไป ก็เลยเป็นแรงดลบันดาลใจให้อยากจะสู้เรื่องมาบตาพุด แล้วก็ต้องการพิสูจน์ให้คนระยองเห็นว่านักสู้ที่แท้จริง คนที่ไม่รับเงิน คนที่มือสะอาด คนที่ไม่กลัวน่ะยังมี

ช่วงที่เริ่มเคลื่อนไหวเรื่องมาบตาพุดถูกกล่าวหาว่ารับเงินหรือไม่

ผมถูกกล่าวหาว่ารับเงิน ตอนแรกยอมรับว่า ทำงานยากมากเลยในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง เพราะจากประสบการณ์ในอดีต คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องมาบตาพุดมักถูกจับได้ว่ารับเงินเสมอ และคิดว่าเดี๋ยวผมก็เป็นแบบเดิมคือรับเงิน ตอนแรกผมโดนหนักมากแล้วก็ไม่มีใครเชื่อสักคน

ถูกกล่าวหาว่ารับเงินจากฝ่ายไหน

ฝ่ายโรงงาน หมายความว่าที่ผ่านมา คนที่เคลื่อนไหวคัดค้านจะรับเงินจากโรงงาน หากทางโรงงานไม่ให้ก็จะออกมาก่อม็อบประท้วงกดดันจนฝ่ายโรงงานต้องจ่ายเงินเพื่อหยุดการเคลื่อนไหว แล้วสักพักก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรับเงินกันใหม่ ประสบการณ์เดิมๆ ของผู้นำในสายตาของชาวบ้านที่นั่นเป็นอย่างนั้นจริงๆ สู้ๆ แล้วก็รับเงิน รับเงินแล้วก็หยุดๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่เคยสร้างอะไรได้เลย เพราะผู้นำรับเงินตลอดส่วนใหญ่ แล้วคนก็มองภาพว่าเดี๋ยวสุทธิก็เป็นอย่างนั้น ต้องทำงานอย่างยากลำบากในการพิสูจน์ตนเองด้วย

แล้วคุณพิสูจน์ตนเองอย่างไรให้ชาวบ้านยอมรับ

ทำงานอย่างต่อเนื่องแล้วก็มีหลักการในการทำงานคือ กระจายการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย ให้ชาวบ้าน นักวิชาการมีบทบาทมากขึ้น แล้วส่วนตัวเป็นคนมุทะลุ เวลาเจรจาต่อรองกับใครก็จะไปหาเองไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี หรือรัฐบาลชุดใดจะเข้าไปเจรจาเลย แล้วก็พูดตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ไม่กลัว เช่นทะเลาะกับพลเอกบัญชร (ชวาลศิลป์) ก็ซัดกันตรงๆ ทะเลาะกับบิ๊กหมง (พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์) ก็ซัดกับบิ๊กหมงตรงๆ ทะเลาะกับโฆษิตก็ซัดกับโฆษิตตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่ว่านักการเมืองชื่อนั้นชื่อนี้ คือถ้าฟ้องหมิ่นประมาทก็ฟ้องไป ถ้าฟ้องก็สู้คดี ถ้าผิดก็ติดคุก คือเป็นคนอย่างนี้ไม่ค่อยกังวลกับผลที่ตนเองทำเท่าไหร่ เพราะเรามั่นใจว่าเราทำในหลักการที่เราพร้อมจะรับกับมัน อีกประเด็นคือ ผมทำงานทั้งในและนอกระบบได้ เช่น ถ้าเขาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการก็เป็น ไม่จำเป็นต้องออกมาต่อสู้อยู่ข้างนอกอย่างเดียวเพื่อให้ได้รู้และเอาข้อมูลมาให้มากที่สุด แล้วผมเป็นคนที่ไม่หยุดทำงาน ไม่มีวันหยุดให้ตัวเอง ช่วงไหนที่เขามีวันหยุดมีงานประเพณีเราก็เข้ามา มีงานบุญเราก็เข้ามา ทำอะไรเราก็เข้าไปตลอด แล้วก็มีทุกเวทีจะถือโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านตลอด ต้องทำให้ชาวบ้านเห็นให้ได้ ไม่หยุดครับ เช่นมีม็อบที่ไหน ที่ไหนเขามีชุมนุม เราก็ชวนชาวบ้านเราไปเรียนรู้ด้วยไม่เคยหยุด แต่ขณะเดียวกันก็โดน อีกฝ่ายโจมตีและกล่าวหาสารพัด หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็เขียนด่าหาว่ารับเงิน วิทยุชุมชนก็โจมตี พวกหน่วยงานราชการ พวกนักการเมืองที่เหม็นหน้าเรา กลัวจะเล่นการเมืองก็โจมตีหรือกลุ่มที่ไม่พอใจ กลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกับโรงงาน พวกรับเหมาก่อสร้าง พวกบ้านเช่า ก็มาต่อว่าต่อขานเราแล้วโจมตีปราศรัยด่าผมตลอด ทุกวันนี้ก็ยังคงมีอยู่ แต่เราก็ไม่ได้กังวลนะ ผมคิดว่าผมอดทนมากพอ

ทุกวันนี้คุณมีรายได้จากอะไร

ผมมีรายได้จากการทำสวนยาง สวนผลไม้ร้อยกว่าไร่ พ่อแม่ทำไว้ให้ มันพอเพียง แล้วพี่สาวก็เป็นข้าราชการ ไม่มีอะไรต้องกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวประจำบ้าน

เป้าหมายสูงสุดในการต่อสู้ของคุณคืออะไร

ความฝันสูงสุดก็คือว่า ถ้าโรงงานหยุดขยายไปได้นี่เราก็พึงพอใจแล้ว แล้วถ้าเกิดหยุดขยายแล้วมันจะหาคำตอบในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด แต่ถ้าโรงงานยังขยายอยู่นี่การแก้ปัญหาก็ไม่มีทางแก้ได้ แล้วหลังจากการหยุดขยายแล้วผมยังเชื่อว่าโรงงานกับชุมชนต้องอยู่ด้วยกันต่อไป เพราะมันหนีกันไม่ได้ ในเมื่อมันหนีกันไม่ได้ แล้วโรงงานก็ไม่มีแผนจะขยายต่อ วิธีการที่จะมาคุยกันเรื่องการแก้ปัญหามันจะคุยได้นิ่งกว่า เพราะฉะนั้นตอนนี้มันต้องทำให้สภาวการณ์หยุดขยายอยู่ในสภาพที่นิ่งก่อน เมื่อนิ่งแล้ว ทางโรงงานไม่มีการขยายกำลังการผลิตหรือขยายโรงงาน เขาก็ไม่ต้องคิดเรื่องผลประกอบการกำไรจากการที่ต้องลงทุนขยายเพิ่ม เขาก็คิดว่ากำไรแค่นี้พอ แล้วก็มาหาทางแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกันดีกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็คุยกับเรานิ่ง เราก็คุยกับเขานิ่ง ทีนี้ถ้าเกิดเขายังคิดจะขยาย เราก็ไม่นิ่ง ต้องพยายามป้องกันไม่ให้เขาขยาย การคุยแก้ปัญหามันจะไม่นิ่ง ที่ผ่านมาเขาหลอกเราตลอด ลดมลพิษเท่านี้ เดี๋ยวมีโรงงานเข้ามาจะทำให้ลดมากกว่าเดิมอย่างนี้ กลายเป็นเพิ่มความไม่เชื่อมั่น แต่อย่างน้อยสถานการณ์ทุกวันนี้มันก็เป็นช่องทางที่ทำให้นักลงทุนเห็นได้มากขึ้นว่า การลงทุนต่อไปนี้มันต้องมีเงื่อนไข อะไรบ้าง ไม่ง่ายเหมือนกับเมื่อก่อนที่เคยทำมา

ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาออกมาให้ระงับ ๗๖ โครงการ ท่าทีก่อนและหลังของภาคอุตสาหกรรมแตกต่างกันหรือไม่

ก่อนฟ้องท่าทีของภาคอุตสาหกรรมยังดูแข็งกร้าวอยู่ ไม่ได้มาติดต่อ พูดคุยหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มพวกเราเลย มองว่ากลุ่มเราเป็นพวกสร้างความวุ่นวายให้ด้วยซ้ำ แต่พอเราชนะคดีสองคดีติดต่อกัน ทั้งคดีการประกาศเขตควบคุมมลพิษในมาบตาพุด ทั้งคดีเรื่องให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา๖๗ ทางภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีท่าทีที่โน้มมารับฟัง แต่พอโน้มมารับฟังแล้ว กลายมาเป็นเงื่อนไขว่าอะไรก็ได้ตามที่ทางภาคประชาชนอยากได้ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เราไม่ต้องการแบบว่าพอชนะแล้วเราจะเอาอะไรคุณต้องให้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ผมคิดว่าพอชนะแล้วเราน่าจะมาช่วยกันหว่านกติกาที่เป็นความเห็นทั้งสองฝ่ายที่คิดว่าจะทำได้ดีกว่า ดังนั้นเราจึงหาทางออกด้วยการมาตั้งคณะกรรมการสี่ฝ่าย แล้วก็มาช่วยออกแบบหาหนทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน แล้วท้ายสุดเลยเราจะรู้ว่าเราจะทำเรื่องอะไรภายใต้หลักคิดแต่ละกลุ่มร่วมกัน ในการฝึกทักษะร่วมกันหลังจากสู้มานานแล้ว มันก็ต้องมาสู่การเจรจา พอเจรจาเสร็จเราต้องหาทางปฏิบัติร่วมให้ได้ มันเหมือนกับทฤษฎีที่บอกว่า บางสิ่งเปลี่ยนแปลง ขัดแย้งกัน แล้วก็ต้องสัมพันธ์กันให้ได้ เราเชื่อหลักคิดนี้ ทีนี้พอเริ่มสัมพันธ์ แต่สัมพันธ์กันนี้ก็ไม่ได้เกิดภายใต้การสมยอม หรือไม่ใช่การสัมพันธ์ภายใต้อะไรก็ได้ แต่มันต้องสัมพันธ์กันท่ามกลางหลักการที่มีอยู่กันอย่างแท้จริง

แล้วเชื่อไหมว่าโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดหลาย แห่งบ้างก็มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

คือที่ผ่านมาผมยังไม่เชื่อ แต่ว่าตอนนี้มันเริ่มเห็นอะไรมากขึ้น แต่ว่ายังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือที่สุดอาจจะเริ่มดีขึ้นแค่นั้นเอง

แต่เชื่อว่าถึงที่สุดแล้วอุตสาหกรรมกับชาวบ้านต้องอยู่ด้วยกันได้

มันหนีกันไม่ได้แล้ว โรงงานอุตสาหกรรมตั้งไปแล้ว พื้นที่ของชาวบ้านก็อยู่ตรงนั้น มันหนีจากกันไม่ได้ ชาวบ้านก็ไม่อยากย้ายพื้นที่เท่าไหร่หรอก โรงงานอุตสาหกรรมเองมันสร้างไปแล้วจะยกเลิกไปสร้างที่อื่น ที่อื่นมันก็ไม่เอาอีก ก็เป็นเรื่องยากเพราะฉะนั้นมันต้องรับสภาพความเป็นจริง ผมยอมรับความเป็นจริงมากกว่า แล้วก็มาสร้างกลไก หรือมาตรการ วีธีการที่ทำให้อยู่ร่วมกัน ที่ไม่ต้องเกิดผลกระทบกันดีกว่า ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ผมคิดว่าภายใต้พื้นฐานที่ผมบอกไง ถ้าไม่ซ่อนดาบให้กันแล้วแอบขยายทีหลัง ก็ไม่อยากฟันธงนะ อย่างกลุ่มปูนซีเมนต์ฟันธงว่าไม่ขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด พอฟันธงแล้วมันจะทำให้การแก้ปัญหาอยู่ในภาวะนิ่งมากขึ้น เมื่อนิ่งมากขึ้นมันจะหาทางออกได้ง่ายขึ้น

กรณีที่ทางภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า กรณีนี้ ทำให้คนตกงานจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายหกแสนล้านบาท จากการคัดค้านของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

คือผมมองว่าวิธีการนี้มันก็ไม่แฟร์ คือคนไม่กี่คนเขาใช้สิทธิตามกฎหมาย และเป็นกฎหมายที่รับรองด้วย เพราะฉะนั้นน่าจะบอกว่าประชาชนก็ใช้สิทธิถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เรื่องเกิดขึ้นเกิดจากการปฏิบัติของใครล่ะ ก็ต้องไปโทษที่ตัวบุคคล รัฐเองหรือเปล่าที่ละเลยมาตลอด หรือเป็นคุณหรือเปล่าที่ไม่ยอมศึกษากฎหมายให้ละเอียด แล้วก็เลยทำให้ปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นประชาชนใช้สิทธิตามกฎหมาย ถ้าประชาชนไปชุมนุมปิดกั้นประตูทางเข้าโรงงานแบบผิดกฎหมาย อย่างนี้โจมตีเรา เรายอมรับผล แต่นี่เราใช้สิทธิตามกฎหมายเพราะฉะนั้น ถ้าจะไปมองถึงกลไกที่ทำให้เป็นเหตุของการละเมิดกฎหมายหรือเปล่า น่าจะไปเรียกร้องตรงนั้นให้รับผิดชอบมากกว่า ไม่ใช่มาเรียกร้องพวกเราว่าเป็นต้นเหตุ แล้วผมยังเชื่อว่ามันเป็นมาตรการใหม่ที่มันเป็นตัวส่งสัญญาณบอกชี้ว่าต่อไปนี้ชุมชนอาจจะอยู่ร่วมกับโรงงานได้ หากโรงงานที่เข้ามาจะต้องเป็นโรงงานที่สะอาดพอสมควร แล้วมาตรการนี้มันก็ได้รับบทเรียนด้วยกันทั้งคู่ คือชาวบ้านเองก็เจ็บปวดจากการพัฒนาขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น ไม่มีมาตรการที่ดีมาประกอบ เสียทั้งสิ่งแวดล้อมเสียทั้งสุขภาพ มาตลอด เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการหรือรัฐบาลก็ต้องเสียบ้าง เสียเพื่อให้รู้ว่าความเจ็บปวดที่ฝ่ายหนึ่งเสียมามันเป็นยังไง เพราะฉะนั้นก็อย่าใช้วิธีการอื่นมาเช่นเอาแรงงานอะไรมาอ้าง รัฐบาลต้องไปแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน ต้องไปแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอง เพราะตัวเองปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด

จากประสบการณ์ของสุทธิ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในหลายปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นตัวเลข คนเสียชีวิต หรือคนเจ็บป่วยคิดว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่

ผมว่าไม่ต่ำกว่าสี่พันล้านบาท ระยองนี่ไปดูข้อมูลสาธารณสุขมีประชากรหกแสนคน ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ มีคนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจถึงสี่แสนคน ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากที่มาบตาพุด หรือบ้านฉางต้องใช้เครื่องพ่นจมูกช่วยหายใจ ผมคำนวณเอาจากที่ไปเห็นคนป่วย เช่น ลุงน้อยที่พาเมียไปรักษาครั้งละสามพันบาท แล้วก็มีค่ารถอีกประมาณพันกว่าบาท ระยะเวลาประมาณ ๖-๑๐ ปี ผมคำนวณจากฐานสามพันกับฐานประชากร ผมคิดว่าก็ประมาณสี่พันล้านบาทที่เป็นตัวเลขที่ชาวบ้านอาจจะสูญเสียไปเฉพาะเรื่องสุขภาพนะครับ แต่ไม่ได้รวมถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอาทิ ทะเลที่ถูกกัดเซาะ น้ำที่ปนเปื้อนด้วยโลหะหนัก น้ำฝน พืชผักที่ต้องเสียหาย แล้วรายได้มันก็ลดลงเยอะมากเช่นชาวประมงเขาเล่าให้เราฟังว่าเมื่อก่อนเขามีรายได้ไม่ต่ำกว่าสองพันบาท แต่ตอนหลังๆ วันหนึ่งได้ห้าร้อยนี่ก็หืดจับแล้ว ต้องออกไปไกลขึ้น ปลามันก็ไม่อยู่เพราะน้ำมันร้อนมันก็หนีหมด ส่วนคนตายผมอาจจะไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่ผมคิดว่าคนตายเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่นี่ หรือคนงานที่มาอยู่แถวนี้ คือคนที่มาทำงานแล้วก็ตาย ตายไปแล้วก็กลับไปที่บ้านเกิด เชื่อไหมนักการเมืองท้องถิ่นหลายคนที่ผมรู้จัก เป็นเพื่อน เป็น สจ. สท. นายกเทศมนตรี ไปงานศพนี้แล้วต้องบอกว่าต้องไปต่อศพอื่นอีกแน่นอน ก็จริง ที่วัดนี่มีแต่งานศพทั้งนั้น บ่อยมาก พรรคพวกนี่บอกว่าหมดเงินไปกับภาษีสังคมที่ไปงานศพนี่เยอะมากที่มาบตาพุด กับที่บ้านฉาง

สาเหตุการตายเกิดจากอะไร

เป็นมะเร็งทั้งนั้นเลย ส่วนใหญ่ มะเร็ง หรือหายใจติดขัด แล้วก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้เช่น ไหลตาย หลับตาย อะไรพวกนี้เยอะแยะเลย แล้วส่วนใหญ่เป็นคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ ส่วนคนระยองก็มี แต่ว่าเวลาแจ้งตาย หรือใบมรณะจะไปแจ้งที่บ้านเกิดเพราะไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา และญาติพี่น้องของคนตายมักเชื่อว่าสาเหตุการตายมาจากมลภาวะในมาบตาพุด

คิดว่าหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการสี่ฝ่ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ต้องไปกำหนดเรื่องของหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ให้เป็นที่ยอมรับ คือผมว่ายังดีกว่าที่ให้รัฐบาลไปทำเอง เพราะถ้ารัฐบาลไปทำเองก็ไม่มีหลักประกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเอาสี่ฝ่ายมาเจอ เอาหลักประกันของทั้งสี่ฝ่ายมาเจอกัน มันเป็นหลักประกันที่เป็นกลางและเป็นธรรม เลยคิดว่าต้องมีมาตรการที่เป็นกลางและเป็นธรรม บางทีหลักประกันนั้นก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องเข้าข้างประชาชน ๑๐๐ % ต้องชนะคดีไม่ใช่ แต่หลักประกันที่ทุกฝ่ายรับได้ และทำได้หรือเปล่า เพราะที่ผ่านมามันเป็นหลักประกันที่รัฐบาลกับเอกชนจะรับได้ แต่ประชาชนรับไม่ได้ รัฐบาลเอกชนอาจจะทำได้แต่พอทำเสร็จแล้วประชาชนรับไม่ได้ก็ได้ ฉะนั้นเมื่อมีกรรมการสี่ฝ่ายแล้วมันจะเป็นหลักประกันที่คิดว่าทุกฝ่ายรับได้ และทำร่วมกันได้ เราจึงมั่นใจและให้เป็นหลักประกันไว้เลย

แต่สุดท้ายข้อเสนอของกรรมการสี่ฝ่าย ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำตามข้อตกลงหรือเปล่า

ใช่ อยู่ที่รัฐบาล แต่ว่าถ้าไม่ทำนี่ผมว่าแย่แล้ว เพราะมันทุกฝ่ายแล้ว ไม่ใช่ฝ่ายเอกชนอย่างเดียว ไม่ใช่ฝ่ายประชาชนอย่างเดียว เพราะเอกชน ประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็รัฐเองก็มา หน่วยงานราชการและรัฐมนตรีเองก็มา ถ้าไม่รับหลักการนี้ไปปฏิบัติผมคิดว่าแย่ที่สุดแล้ว เพราะมันมาจากหลายฐาน ถ้ามาจากหลายฐานแล้วยังไม่เอาอีกก็คงแย่แล้ว

แสดงว่าบรรยากาศในที่ประชุมทุกฝ่ายก็ค่อนข้างจะคุยกันรู้เรื่อง

รู้เรื่องครับ ใช้หลักเหตุผลมากกว่าแล้วก็ไม่มีการล็อบบี้ลิสต์ครับ แล้วแต่ละฝ่าย อาจจะเถียงกันหนักในเรื่องหลักการ แต่การใช้คำพูดรุนแรง ผรุสวาทไม่มี ส่วนใหญ่จะใช้มารยาทและการคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า ยึดหลักการของแต่ละฝ่ายที่คิดกันมา

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คุณสุทธิตัดสินว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถคุยกับภาคประชาชนรู้เรื่องมากกว่า

เป็นครั้งแรกครับ คือมันไม่มีตัวการที่ทำให้เขาต้องขัดแย้งกับเรา ต่างจากสมัยรัฐบาลพลเอกสรยุทธ์ ตอนนั้นคุณโฆษิต เป็นตัวขัดแย้งเอง คือเขาจะสร้างโรงงาน ขยายพื้นที่ แล้วก็แก้ปัญหาง่าย ๆ โดยการเอาเงินกองทุนไปให้ชาวบ้านเป็นการแก้ปัญหา แต่ไม่ถามความต้องการของชาวบ้าน เราบอกว่าท่านครับ ชาวบ้านอาจจะไม่ได้ต้องการแบบนั้นก็ได้ แต่เขาไม่ฟังเราทุบโต๊ะสั่งให้ได้เลย แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปมาก พอมีการตั้งคณะกรรมการสี่ฝ่าย มีคนกลางที่ไม่ใช่คนมีอำนาจในรัฐแต่เป็นผู้ใหญ่ที่หลายคนต้องฟัง มันทำให้ชาวบ้านเองก็กล้าพูด กล้านำเสนอมากขึ้นดีกว่าถูกเคาะอยู่บนหัวโต๊ะอย่างเดียวว่าต้องทำอย่างนั้นนะ สมัยก่อนคุณโฆษิตตั้งกรรมการเยอะแยะไปหมด แต่ท้ายสุดคุณโฆษิตเขาเคาะเองน่ะ อยากได้อะไรก็เคาะๆ ทำแบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ข้าราชการเองก็ไม่กล้าค้านความคิดแบบเขา เพราะเป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายก เอกชนเองก็ต้องอยู่ในอุ้งมือเขา เขาก็ไม่กล้าเคาะ ไม่กล้าไปเถียงอะไร ต้องตามเขาไป พอตามเขาไปก็ห่างจากเราเลย โอกาสที่จะทำความใกล้ชิดก็หายไปเลย นี่เลยเป็นโอกาสครั้งแรกที่ดูมีความสัมพันธ์กันทางแนวราบมากขึ้น มีความเสมอภาค ตัวแทนรัฐบาลของกรรมการสี่ฝ่ายชุดนี้คือคุณกอร์ปศักดิ์ เขาก็โอเค รับฟังครับ แล้วก็รู้ด้วย แถมยังเสริมหนุนภาคประชาชนด้วย ก็ถือว่าเป็นชุดกรรมการที่แลดูดี

แล้วได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านที่คัดค้าน แล้วฝ่ายสนับสนุนหรือเปล่าครับ

ก็เจอกัน เจอทั้งสองกลุ่ม กลุ่มที่เขาไม่ชอบพวกผมเขาก็ออกมาโจมตีเป็นธรรมดาว่าผมไม่ใช่คนในพื้นที่มาบตาพุด อันที่สองคือบอกว่ามันอาจจะทำให้คนตกงาน ก็สองเหตุผล

เป็นห่วงไหมครับว่าประชาชนจำนวนมากจะตกงาน

ผมคิดว่าผมเป็นห่วงครับ ทุกวันนี้มีคนในโรงงานมาบตาพุดรวมทั้งคนงานก่อสร้างด้วยประมาณแสนคน แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะไปคุ้มครองคนตกงานอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แรงงานก็เป็นแรงงานต่างชาติ พวกเขมร ลาว พวกนี้มาอยู่เยอะ คนอีสานเองก็เหลือไม่เท่าไหร่ แล้วถ้าพูดถึงคนในพื้นที่เองกับการประกอบการก็ไม่ได้ไปทำอยู่แล้ว คนระยองไม่ได้ทำงานก่อสร้าง อันนี้ผมว่ารัฐต้องสร้างความชัดเจนให้ได้ เป็นคนที่อื่นมากกว่า แล้วส่วนหนึ่งหลังๆ นี่พออุตสาหกรรมพัฒนาไปทันสมัยมากขึ้น มันใช้เทคโนโลยีมากกว่าคน คนก็ใช้พวกวิศวกรไม่กี่คนควบคุมเทคโนโลยี ทำให้ต้องลดกำลังคน แล้วผมก็เห็นตามโรงแรมในระยองหลายแห่ง อาทิ โรงแรมสตาร์ โรงแรมระยองออร์คิด โรงแรมโกลเด้นซิตี้ มีแต่วิศวกรชาวต่างประเทศพักอยู่ทั้งนั้น คือผมกังวลไงครับว่าท้ายสุดก็จะเหลือการจ้างงานจริงๆ ไม่กี่คน ถ้าเกิดเทคโนโลยีมันพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ปัญหาการตกงานก็ต้องเกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะผู้ประกอบการเขาจะใช้เทคโนโลยีแทนคน คนจะเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ ความน่ากลัวในอนาคตก็ต้องมาเหมือนกัน รัฐบาลก็ต้องเตรียมการและอ่านแผนผู้ประกอบการให้ขาดด้วย ว่าจะรับมือกับพวกนี้ยังไง ท้ายสุดมันจะเหลือคนระยองทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแค่ไม่ถึง ๑๐ % ส่วนใหญ่เป็นคนที่อื่น แล้วก็เป็นแรงงานต่างประเทศมากกว่า

ทางกลุ่มปิโตรเคมีบอกตลอดเวลาว่า ทางโรงงานใช้เงินลงทุนเป็นหมื่นล้าน ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการกรองอากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน คุณมีความเห็นอย่างไร

ไม่เชื่อ ไม่เห็นกระบวนการ ไม่เห็นการนำเข้าวัตถุดิบ ไม่เห็นอะไรเลย เป็นแค่กรรมการในบริษัทนั้นพูดออกมาอย่างนี้ หมดเงินไปเท่านั้น แต่ประชาชนไม่เห็นเลยว่ามีการทำอะไรไปบ้าง ก็เอารายการการลงทุนมาตรวจรับกันไหม ให้สามารถไปดูมอนิเตอร์กระบวนการได้ไหมว่าติดตั้งแล้ว มอนิเตอร์จริงหรือเปล่า หรือมอนิเตอร์เฉพาะบางช่วงที่คนมาตรวจงาน มันต้องแสดงความจริงใจ แล้วเวลาเอาคนไปตรวจส่วนใหญ่ที่อ้างถึงก็เป็นชุมชนที่อยู่ในกลุ่มของตนเอง แล้วก็ไม่ได้เสริมทักษะด้วย เสริมทักษะก็คือว่าต้องให้คนที่มีความรู้ไปด้วย ชาวบ้านไปแล้วก็ไม่รู้เรื่อง แล้วก็เห็นชอบก็คงไม่ใช่หลักที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นมันต้องมีการให้ความรู้ชาวบ้านก่อน ทางที่ดีผมยังคิดว่าอยากจะชวนเลยถ้าเขาจริงใจ ชวนตั้งเป็นองค์กรคู่ขนานเลยในการตรวจสอบมลภาวะ ชาวบ้านก็มีสิทธิตรวจเองได้ไม่ต้องรอหน่วยงานราชการอย่างเดียว ต่อไปเราอาจจะมองข้ามหัวราชการไปเลยก็ได้ แล้วก็โรงงานกับชาวบ้านคุยกัน โรงงานสนับสนุนให้ชาวบ้านตั้งคู่ขนานอย่างไม่ต้องเกรงใจ มีกติกาในการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน ชาวบ้านก็ตรวจคู่ขนาน แล้วโรงงานตรวจคุณมา ชาวบ้านตรวจมา แล้วหาตัวกลไกกลางมาวัดว่า เฮ้ย ค่ามันไม่สมดุลไม่ตรงกัน ค่าไหนจะเป็นค่าที่เกิดการยอมรับได้ ถ้าชาวบ้านไม่เป็นที่ยอมรับก็ตรวจใหม่ ถ้าโรงงานไม่เป็นที่ยอมรับเพราะว่ามันเกินจริง ชาวบ้านตรวจมาข้อมูลน่าเชื่อถือกว่าก็ไปปรับปรุงให้มันดีขึ้น มันจะดีกว่า ก็อยากจะบอกทุกอย่างสมบูรณ์หมดไหมล่ะ ต้องสร้างคู่ขนานให้ได้ เป็นกลไกที่อยู่ด้วยกันได้ในอนาคต ผมคิดว่าจะสร้างกลไกนี้ การอยู่รวมกันต้องเป็นคู่ขนานชาวบ้านต้องมีสิทธิตรวจได้ หานักวิชาการหลายภาคส่วนมาช่วยดูแล มีการเก็บตรวจตัวอย่างอากาศ เครื่องมือในการตรวจสุขภาพ พวกนี้น่าจะทำและสอนให้ชาวบ้านเป็นให้ได้ แล้วเขาจะตรวจสอบกันเอง คือการตรวจสอบยังช่วยประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในโรงงานด้วย คือผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง อาจเป็นคนดี เห็นใจประชาชน แต่พอคุณจ้างพนักงานเข้าไปทำงาน บางคนอาจจะมีปัญหา ชาวบ้านจะได้ตรวจสอบคุณทั้งระบบ เจอตรงไหนเห็นของไม่ดีคุณก็เขี่ยออกไป ผมเห็นบางโรงงานมีนโยบายดี แต่การบริหารองค์กรไม่โปร่งใส ลูกน้องคอรัปชั่นกันเองข้างในก็เยอะ แต่ที่ผ่านมาก็มีจุดร่วมหลายอย่างที่ฝ่ายโรงงานกับชาวบ้านทำร่วมกัน ก็ดีอยู่แล้ว เช่นงานดูแลเยาวชน งานอื่นๆ ที่เป็น CSR ก็ว่ากันไป แต่ต้องเป็น CSR ที่ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์ ชี้แจงให้ชาวบ้านยอมตามฝ่ายโรงงานทุกอย่าง มันไม่ใช่ แต่ต้องชี้แจงชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถตรวจสอบฝ่ายโรงงานได้ อย่างนี้มันถึงจะเป็นวิถีทางอยู่ร่วมกันที่ว่าดีที่สุด ไม่ต้องถึงขนาดมาทำให้ชาวบ้านกับโรงงานต้องรักกันเลย ไม่ต้องรักกันก็ได้ แต่ต้องไม่มีปัญหาต่อกัน ไม่ต้องทะเลาะกันดีกว่า หลายประเทศที่เขาเจอประสบการณ์อย่างเรา เขาก็ไม่ได้บอกว่าต้องมารักกัน ห้ามทะเลาะกัน ไม่ใช่ ถ้าไม่ถูกเขาก็จะมีเครื่องมือในการที่จะบอกคุณว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกนะแก้ไขเถอะ บางทีผู้บริหารอาจจะบอกโอเค ใช่ แต่ฝ่ายปฏิบัติการอาจจะเป็นอีกอย่างก็ได้

แสดงว่าคุณไม่มั่นใจในระบบตรวจสอบของทางอุตสาหกรรม

ระบบไม่น่าเชื่อครับ มันตรวจสอบไม่ได้ ถ้ามันตรวจสอบได้สักอย่างก็โอเค แล้วก็เป็นเรื่องยากมากด้วยเพราะว่าอย่างราชการก็ไม่กล้าไปตรวจ เพราะพื้นที่โรงงานเขาก็ไม่กล้าเข้าไปแล้ว ข้าราชการระดับเล็กมากอย่างระดับ ซีหก ไปชี้ว่าโรงงานหมื่นล้านต้องปิดเพราะปล่อยสารพิษ ในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเป็นไม่ได้ เราก็ต้องไปสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้านแล้วคุณก็ฟัง ถ้าไม่ถูกคุณก็โต้เถียงกันในหลักการแล้วก็ปรับปรุง ไม่ยาก

มีโอกาสไหมครับที่เอ็นจีโอกับนักอุตสาหกรรมจะเป็นมิตรกันได้

ผมว่ามี ท้ายที่สุดมันต้องสัมพันธ์กัน ขัดแย้งแล้วก็ต้องสัมพันธ์กันต่อไป ผมเคยเจอกับนักอุตสาหกรรมหลายคนที่เกษียณอายุ เขาก็พูดเสมอว่าตอนที่เขาไม่เกษียณเขาไม่มีโอกาสได้ทำ ทุกคนรู้ว่าตัวเองทำอะไร แล้วพอเมื่อถึงบั้นปลายแล้วถึงรู้ว่าผิดพลาดไปแล้ว นักอุตสาหกรรมเก่าหลายคนคอยให้คำปรึกษาผม แต่ว่าพูดอะไรไม่ได้ เขายอมรับว่าตอนที่เขาเป็นหนุ่ม สนุกกับการที่ต้องขยายกิจการ แต่พอเกษียณแล้วเขาเห็นแล้วหลายสิ่งหลายอย่างไม่ถูกต้อง ตอนนี้สิ่งที่เขาพยายามทำก็คือการชี้แนะให้คนรุ่นหลังๆ เขาตระหนักมากขึ้น เข้าใจว่าสักวันหนึ่งจะมีนักอุตสาหกรรมที่เข้าใจคำว่าบริหารมากกว่าเทคนิค บริหารสังคมมากกว่าบริหารเทคนิค เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้บริหารอุตสาหกรรมหรือพวกที่อยู่ในระดับ CEO ของภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นพวกวิศวกร เป็นนักเทคนิคอย่างเดียว เขาจะคิดเรื่องสังคมไม่เป็น เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นต้องให้ความรู้เขาเชิงสังคมให้มากขึ้น แต่เราก็ต้องเรียนรู้เทคนิค เขาเรียนรู้สังคม เราก็กลับไปเรียนรู้เทคนิคเพื่อใช้เทคโนโลยีให้เป็นด้วย ไม่อย่างนั้นก็ตามไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เขาใช้

พูดถึงเรื่อง HIA คิดว่ามันน่าจะเป็นความหวังได้ไหม กระบวนการประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพ

ผมว่ามันเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้นเอง คงตั้งความหวังทั้งหมดไม่ได้ว่าจะต้องปลอดภัย ๑๐๐ % แต่จะเป็นเครื่องมือ เป็นช่องทางอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านจะใช้สิทธิของตัวเองในเรื่องสุขภาพมากขึ้นได้ อนาคตถ้าเกิดมีการประเมินแล้วเกิดปัญหา มันอาจจะนำไปสู่การเรียกร้องความเป็นธรรมได้ มันมีหลักฐานการทำไว้แล้วมันเกิดขึ้นมา มันอาจจะทำให้ชาวบ้านต้องใช้สิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้องหรือ เรียกร้องสิทธิได้ดีกว่าเดิม ต่างจากทุกวันนี้เวลามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็เถียงกันว่าไม่ได้เกิดจากมลพิษบ้างอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ เมื่อเป็นอย่างนี้ HIA ก็จะเป็นช่องทางที่เปิดให้ชาวบ้านสามารถใช้สิทธิในเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น หรือสามารถใช้เรียกร้องความเป็นธรรมได้ง่ายขึ้น

สมมติว่าถ้า ศาลปกครองไม่รับคดีนี้ตั้งแต่แรก ไม่มีการระงับโครงการในมาบตาพุด คุณจะทำอย่างไรต่อไป

ผมก็ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ หรือต้องมีอบรมสัมมนาสร้างขยายกลุ่มฐานไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่ได้จบอยู่แค่คำสั่งศาล มันอยู่ที่ความเข้มแข็งของประชาชน ถึงแม้ศาลมีคำสั่งอย่างนี้เราก็หยุดไม่ได้เช่นเดียวกัน มันหยุดไม่ได้ ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็ง เสริมสร้างทักษะ พัฒนากลไกให้มันสมบูรณ์แบบให้ได้ คือเรารู้ว่ามันไม่สมบูรณ์แบบง่ายๆ แต่มันต้องทำไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ลุงน้อยพูดภาษาอังกฤษเรื่อง HIA เข้าใจ เราก็ดีใจแล้วว่าอย่างน้อยๆ คุณลุงซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย ทุกวันนี้เขารู้มากขึ้น นั่นมันเป็นผลพวงซึ่งเป็นเรื่องดี ที่ทำให้คนระดับล่างได้มีโอกาสเข้าถึง และมีโอกาสที่จะมาผลักดันเชิงนโยบาย ได้เท่าเทียมกับคนที่มีการศึกษามาก่อน ผมไม่ได้บอกว่าความตั้งใจสูงสุด ไม่ได้ตั้งใจว่าทุกอย่างต้องจบ แต่ผมคิดว่าทุกอย่างมันคือความสำเร็จเมื่อทุกอย่างมันเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ จากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในครั้งแรก ๆ มีคนรวมกลุ่มแค่ประมาณสิบห้าคน หลังๆ เพิ่มเป็นหมื่นเป็นพันขยายเป็นเครือข่ายวงกว้างมากขึ้น มีเครือข่ายองค์กรพันธมิตร มีเครือข่ายระดับประเทศ มีเครือข่ายชนชั้นกลาง ตอนที่เรานำชาวบ้านเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เราไม่ต้องเสียตังสักบาทเดียว มีทั้งน้ำ อาหาร มีทั้งเงินบริจาคช่วยกันเต็มไปหมด เห็นว่ามันได้เข้าถึงซึ่งการขยายไปสู่คนชั้นกลาง และคนชั้นกลางจะให้ความสำคัญกับสิทธิมากขึ้น กับสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โอกาสที่จะเป็นสังคมที่ดีขึ้นมันก็มีลางบอกเหตุ

สมมติว่ากรณีมาบตาพุดแก้ปัญหาได้เรียบร้อยแล้ว เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจะยุติบทบาทหรือไม่

ผมย้ำว่าการต่อสู้ไม่ใช่ต่อสู้แล้วก็จบ คือคนไทยจะเป็นอย่างนี้พอชนะก็จบแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าชนะแล้วมันต้องเกาะเป็นเครือข่ายแล้วก็พัฒนาความคิดไปเรื่อยๆ ตอนนี้กำลังหาที่สร้างแหล่งเรียนรู้กันอยู่ว่าจะเอาที่ไหน และผมกำลังจะพัฒนาให้มันเป็นศูนย์แห่งการเชื่อมโยงเครือข่าย ในแง่ของความคิด ความรู้และก็ความสัมพันธ์ กำลังคิดจะตั้งออมทรัพย์วันละบาทเพื่อสิ่งแวดล้อม คือคิดหลักง่ายๆ ระยองมีหกแสนคน ตีซะว่าวันละบาทจะได้ประมาณหกแสน ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ มันจะมีเงินที่ทำการส่งเสริมประชาชนให้เกิดความเข้มแข็งได้อีกมาก แต่ว่ามันยังไปไม่ถึงตกผลึก ตอนนี้กำลังคิดให้มันตกผลึกให้ได้ ทุกคนหยอดกระปุกวันละบาทมันจะทำให้ประชาชนมีเสรีภาพในการพึ่งตนเอง ปกป้องตนเองได้มากขึ้น ผมเชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ได้เบ็ดเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่ง บางทีพอมันแก้ดีไปได้ระยะหนึ่งแล้วมันก็หายไป ตราบใดที่เรานิ่งปัญหามันก็จะกลับมาอีก


เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกทำงานอีกนอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อม

แทบจะทุกเรื่องเลย การถูกละเมิดอำนาจ ละเมิดสิทธิชุมชน แม้กระทั่งชาวบ้านถูกไล่ที่ หรือมีปัญหากับนายทุนเรื่องการดูดทราย รวมไปถึงการเอาผิดกับข้าราชการที่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

มีคนบอกว่าท้ายสุด คุณสุทธิต้องการเป็นนักการเมืองหรือเปล่า

คิดว่าจับพลัดจับผลูมากกว่านะ คือเราก็ไม่ได้เป็นแกนนำพันธมิตรตั้งแต่แรก แต่พอทำไปก็เข้าเป็นหนึ่งในแกนนำของพันธมิตรโดยไม่ได้ตั้งใจ ท้ายสุดสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็เลือกให้เป็นกรรมการบริหาร แล้วเรามีความตั้งใจว่าอยากทำงานเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่ประจักษ์ คือสมัยก่อนผมคิดว่าพรรคการเมืองเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องผลประโยชน์ แต่เราว่าสังคมสมัยใหม่มันทำอะไรได้มากกว่าสังคมก่อน เราประเมินจากตัวเองที่เมื่อก่อนคนอื่นสู้แล้วรับเงินแล้วก็ถูกข้อครหา แต่เราเองแม้ถูกข้อครหาแต่ก็สามารถพิสูจน์ให้สังคมเห็นได้ ทั้งมิติการเชื่อมสังคมมันง่ายกว่าก่อน เมื่อก่อนมันปิดอยู่มุมหนึ่งใครนินทาใครก็ไม่รู้เลยว่ามันเป็นเรื่องจริงไม่จริง แต่วันนี้มันเริ่มเห็นได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นผมไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ ถ้าจะวิจารณ์อย่างไรก็ให้ดูที่ตัวเราดีกว่า ดูที่ผลดูจากการกระทำ ถ้าเราเป็นอย่างนี้แล้วเราเปลี่ยนในท้ายที่สุด โอเค ก็ต้องประณาม เราไปอยู่ข้างธุรกิจอุตสาหกรรมโดยที่ไม่ลืมหูลืมตา และการเป็นกรรมการบริหารพรรคมันไม่ได้หมายความว่าจะต้องลงเลือกตั้ง ต้องไปใส่ร้ายโจมตีคนอื่น ไม่ใช่ และผมก็ไม่เคยแสดงพฤติกรรม ผมพยายามจะทำให้สังคมเห็นด้วยซ้ำว่าเราถึงแม้จะเป็นสภาพหนึ่งของพรรคการเมือง แต่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน บางคนเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคเสร็จแล้วก็บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ไม่ออกมาเคลื่อนไหวเลย พอเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้วเรื่องนี้ไม่พูดเรื่องนั้นไม่ทำเพราะต้องระวัง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เรื่องไหนที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนที่เราทำมาก่อน เราต้องทำต่อไป แต่ถ้าเราทำแล้วคุณไม่พอใจก็ขับเราออกจากพรรค เราก็ยินดีเราไม่ได้ว่าอะไร หรือลาออกก็ได้ถ้าไม่สบายใจต่อพรรคเราก็ออก แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีฟีดแบ็คอะไรกลับมา ถึงมีตำแหน่งกับพรรคก็ยังทำงานในภาคประชาชน ภาคสังคมอยู่ ก็ทำได้ไม่เห็นมีอะไร แต่คนอื่นไปกลัวเอาเอง เป็นกรรมการบริหารพรรคแล้วนำชาวบ้านไปสู่การต่อสู้ในเรื่องสิทธิตนเอง เป็นเรื่องที่ดีกว่าอีก ผมอยากให้สังคมกลับไปคิดตรงนี้ให้มาก

ชีวิตทุกวันนี้อันตรายไหมครับ

ผมว่าอันตรายมาก มันมีข่าวไม่ค่อยดีตลอด จริงๆ ก็ได้รับโทรศัพท์ว่าคนนั้นคนนี้จะมาทำร้ายตลอด ก็ทำให้ตนเองวิตกจริตบ้าง แต่ก็ว่าไม่ถึงขนาดประมาทเช่นเดียวกัน ผมอาจจะเคยทำอะไรที่มันแรงๆ แล้วยังไม่โดนเล่นงานเช่น พูดจาเข้าข่ายหมิ่นประมาทไง ก็ยังไม่มีคนฟ้อง มันอาจจะทำให้เรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำอะไรที่กระทบกระเทือนสิทธิของใครมากนัก เพราะเรายึดมั่นในสิ่งที่เราทำและพึงกระทำมากกว่า และผมยังคิดทุกครั้งก่อนจะทำ ไม่ใช่ว่ามุทะลุ แม้ว่าในสายตาคนภายนอกอาจจะมองผมค่อนข้างแข็ง แต่ผมว่าผมไม่ถึงขนาดนั้น แล้วผมไม่ใช่นักเลง แต่ว่าไม่ยอมในสิ่งที่ไม่ใช่แค่นั้นเอง แล้วเราดูเหมือนคุยง่าย แต่ถ้าลึกๆ บางทีไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้าอย่างไหนไม่ยอมเราก็ไม่ยอมอย่างนั้น ถ้าเรามองว่ามันไม่ใช่หลักที่ถูกต้อง

ใครเป็นแบบอย่างในการทำแบบนี้ที่ผ่านมา

คนแรกคือพี่มด วนิดา (ตันติวิทยาพิทักษ์) ผมฟันธงเลย ผมใช้ชีวิตแบบพี่มดนะ พี่มดเป็นผู้หญิงที่ผมเห็นแล้วแกไม่ลอยเลย อยู่กับชาวบ้านตลอด วิถีชีวิตผมก็ใช้อย่างนั้นอยู่กับชาวบ้านตลอด อีกคนก็พี่สุวิทย์ วัดหนู พี่สุวิทย์อาจจะดูเป็นนักเลงในสายตาของคนทั่วไป เสียงดังกระโชกโฮกฮาก แต่ในสายตาของผมแล้วผมคิดว่านั่นคือสุภาพบุรุษที่พี่สุวิทย์เป็น แล้วก็คนตะวันออกส่วนใหญ่จะมีนิสัยอย่างนี้ ไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่หรอก นี่คือบุคคลตัวอย่างเลย แล้วพี่สุวิทย์แกฝากฝังผมเลยว่าผมเป็นแกนนำภาคประชาชนคนตะวันออกคนเดียวที่เหลืออยู่ที่แกเห็นว่าน่าจะมีอนาคตที่ไปได้ คำพูดของพี่สุวิทย์กรอกอยู่ในหัวสมองผมตลอด

สุดท้ายนี่คิดว่าอนาคตของมาบตาพุดมันจะเป็นอย่างไร

คือผมว่าอนาคตมาบตาพุดต้องไม่ขยายโรงงานอีกต่อไป และผมเชื่อว่าจากบทเรียนครั้งนี้ทำให้นักลงทุนหลายนักลงทุนไม่มั่นใจในรัฐเท่าที่ควรแล้ว แต่นักลงทุนจะเริ่มเห็นว่าต้องฟังประชาชน คือ นักลงทุนไม่มั่นใจในกลไกของรัฐ มันเป็นการตบหน้ารัฐฉาดใหญ่เลย ทุกวันนี้ผมได้รับการติดต่อจากสถานทูตหลายแห่ง อเมริกา เยอรมัน จีน ออสเตรเลีย ชวนนัดกินข้าวเพื่อถามว่าประชาชนเห็นยังไงกับเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม มีการตอบโจทย์เลยว่า เพราะตอนนี้เอกชนในภาคนักลงทุนเขาไม่มั่นใจที่รัฐบาลชวนเขามาลงทุนแบบก่อนแล้ว ต้องมาฟังประชาชนด้วย ทำให้เขาหันมามองภาคประชาชนมากขึ้น เมื่อก่อนเขามองประชาชนเหมือนอะไรสักอย่าง เดี๋ยวนี้ก็ต้องปรับมามองประชาชนมากขึ้น นักลงทุนจะเห็นแล้วว่ามาบตาพุดมันเต็ม ทำให้ผมคิดว่าอนาคตการลงทุนในมาบตาพุดอาจจะต้องหยุดไว้ก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น